วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2557

ช่วงสุดท้ายของชีวิต



ช่วงสุดท้ายของชีวิต

            ความตายเป็นสิ่งที่แน่นอนสำหรับทุกชีวิต แต่ขณะเดียวกัน ก็เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เพราะเราไม่อาจกำหนดหรือสามารถทำนายได้ว่า จะตายเมื่อใด ที่ไหน  และด้วยสาเหตุอะไร  ......จะยากดีมีจน ก็ไม่มีใครหนีพ้น.....

        คงจะเป็นจริงดังบทความที่ว่าไว้  แม้ในปัจจุบันจะมีความก้าวหน้าทางการแพทย์ ตลอดจนเทคโนโลยีที่ถูกนำมาพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ขีดความสามารถสูงขึ้น เพื่อต้องการฝืนธรรมชาติของมนุษย์เอา ไว้ให้ยาวนาน แต่โรคบางโรคก็สามารถแข่งและพัฒนาเท่ากับความทันสมัยของเครื่องมือและยาควบคู่กันไป  เช่นโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไปจำนวนไม่น้อย ถึงแม้จะมีวิธีการรักษาที่ทันสมัย แต่ไม่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ หอผู้ป่วยหนักเป็นหน่วยงานซึ่งไม่ได้รับผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤตหรือภาวะคุกคามชีวิต แต่ยังคงมีผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่งที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังซึ่งไม่สามารถรักษาหรือเยียวยาให้อาการดีขึ้นได้ นอกจากประคับประคองให้ผู้ป่วยปราศจากความทุกข์ทรมานและลดความเจ็บปวด และเปิดโอกาสให้ญาติได้ดูแลในช่วงสุดท้ายของชีวิต

        น้าอ้อยก็เป็นผู้ป่วยอีก 1 ราย ที่ต่อสู้กับโรคร้ายมานาน จนถึงช่วงระยะสุดท้ายของโรค  ซึ่งแพทย์ไม่สามารถรักษาให้หายขาดจากโรคนี้ได้  น้าอ้อยจึงเลือกกลับมาใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตกับครอบครัวและคนที่รัก  น้าอ้อยเป็นมะเร็งที่ผนังมดลูก ได้เข้ารับการรักษา ที่ ร.พ กรุงเทพ ระยะเวลา 2 ปี ด้วยการฉายแสงและเคมีบำบัด ระยะหลังมะเร็งเริ่มลุกลามไปอวัยวะใกล้เคียง แพทย์จึงยุติการรักษาและแนะนำให้กลับมาดูแลต่อที่บ้าน   สามีของน้าอ้อยยังไม่ละความพยายามในการรักษา  ยังหาสถานที่รักษาต่างๆให้กับภรรยาอย่างถึงที่สุด  แต่อาการของน้าอ้อยเริ่มทรุดลงเรื่อยๆ  น้าอ้อยเริ่มมีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้น  ครอบครัวจึงพาน้าอ้อยเข้ารับการรักษาที่ ร.พ พระพุทธบาท  ในหน่วยงาน I.C.U  จำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ   

        วันแรกที่เข้ารักษาน้าอ้อยรู้สึกตัว รู้เรื่อง สีหน้าสดชื่น ไม่มีอาการเหนื่อยหอบมากนัก อีก 3  ต่อมา น้าอ้อยเริ่มปวดตามร่างกาย เหนื่อยหอบ กระสับกระส่าย ร้องให้และซึมลง  ครอบครัวมีความวิตกกังวลมาก  ทางทีมPalliative  Care ในตึกI.C.U จึงร่วมหาแนวทางดูแลแบบประคับประคอง   โดยเชิญสามีและลูกสาวมาร่วมดูแลพูดคุย ช่วงระหว่างสนทนาสามีน้าอ้อย พูดว่า “ผมพาภรรยารักษาทุกที่ ที่ไหนเค้าว่าดี ผมพาหมด ไกลแค่ไหน หมดเงินเท่าไหร่ ผมไม่เคยเสียดาย ผมและลูกหวังแต่เพียง.. (เสียงขาดหายไป) ….อยากให้เค้าอยู่กับเรานานๆ  ไม่อยากสูญเสียเค้าไป ผมรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ หมอ ร.. กรุงเทพบอกให้ผมทำใจ.สามีของน้าอ้อยพยายามจะพูดต่อ  แต่พูดไม่ออก น้ำตาซึม ก้มหน้า ลูกสาวนั่งร้องไห้อยู่ข้างๆพ่อ สามีน้าอ้อยพยายามแข็งใจพูดให้จบ “ ผมรู้ว่าเวลามันเหลือน้อยลงทุกที  แต่ผมก็ยังทำใจไม่ได้  สงสารเค้า    ดิฉันเข้าใจความรู้สึกของเขาทั้งสองคน เพราะเคยผ่านประสบการณ์  การสูญเสียเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง  โดยเฉพาะคำว่าทำใจไม่ได้  เพราะมันเรื่องยาก ที่บุคคลอันเป็นที่รักของเราที่สุดในชีวิต ต้องจากไป อย่างไม่มีวันกลับ  อาจต้องใช้เวลาเยียวยา และสร้างกำลังใจของเราขึ้นมาเป็นกำแพงให้เกิดความเข้มแข็ง หลังจากสนทนาจบทีมPalliative  care ทราบความต้องการของน้าอ้อยคือเป็นห่วงแม่ และน้องที่พิการ  อยากไปไหว้พระที่วัดปากช่อง  ดิฉันให้กำลังใจลูกสาว ด้วยการลูบมือเบาๆ   “ พี่ขอให้ครอบครัวของน้องผ่านวิกฤตชีวิตนี้ไปให้ได้  ให้กำลังใจซึ่งกันละกัน และเราคงต้องยอมรับความเป็นธรรมชาติของมนุษย์  เกิด แก่ เจ็บ ตาย  ไม่มีใครในโลกที่จะหลีกหนีความตายไปได้  แม้แต่พระพุทธเจ้า  อย่ารู้สึกกลัวแม้แต่ตัวเราเอง  เราต้องเตรียมพร้อมสิ่งที่จะเกิดขึ้น  เพื่อให้เกิดสติ  ครอบครัวเราไม่ได้โชคร้าย  ยังมีอีกหลายครอบครัวที่เค้าไม่มีโอกาสได้ดูแล  แต่เรายังโชคดี มีโอกาสได้ดูแลแม่นะ  เวลาที่เหลืออยู่จะมีมากหรือน้อยไม่สำคัญ ขอให้ใช้เวลาที่เหลืออยู่ ให้คุ้มค่าที่สุด  เจ้าหน้าที่ทุกคนจะเป็นกำลังใจ และช่วยกันดูแลแม่ของเรานะ   ดิฉันได้เห็นรอยยิ้มแม้จะมีคราบน้ำตาของ 2 พ่อลูก                                                                                                                                                        
          ทางทีม Palliative care  ได้จัดกิจกรรมแนวทางการดูแลให้กับน้าอ้อยและครอบครัว คือ ตอนเช้าลูกสาวจะนำข้าวให้ใส่บาตรทุกเช้า การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ เช่น การถวายสังฆทาน  ช่วงบ่ายให้มีส่วนร่วม ช่วยเช็ดตัว พลิกตะแคงตัว Feed อาหาร การนวดผ่อนคลาย  การสัมผัส อ่านบทสวดมนต์ ช่วงที่ญาติไม่ได้เข้าเยี่ยม  เจ้าหน้าที่ได้เปิดเพลงบรรเลง บทสวดมนต์ พระเทศนา ภาวนาทองเลน  น้าอ้อยดูมีสีหน้าสดชื่นขึ้น แม้ว่าอาการเหนื่อยหอบและปวดมากขึ้นเรื่อยๆ อีก 4 - 5 วันต่อมา น้าอ้อยอาการทรุดลง  แพทย์ได้เพิ่มยาMo เป็นแบบDrip  น้าอ้อยเริ่มซึมลง  หัวใจเต้นเร็วขึ้น  ความดันโลหิตต่ำลงอาการเหนื่อยแม้ได้Mo Drip อาการเหนื่อยหอบไม่ดีขึ้น ดิฉันเดินเข้าไปจับมือน้าอ้อย  น้าอ้อยพยายามลืมตาและบีบมือฉันแน่น  ฉันรู้ว่าอาการแย่ลงและคงเสียชีวิตในไม่ช้า  ฉันเรียกน้าอ้อยหลายครั้ง  ลูบมือเบาๆ น้าอ้อยพยักหน้ารับรู้ 

.    ” น้าอ้อย  กำหนดลมหายใจเข้า- ออก พุทธโท ภาวนาไปเรื่อยๆ ระลึกสิ่งที่ดีงาม  ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกังวล ผ่อนคลายน้าอ้อยทำบุญมามาก  ทำบุญกฐิน สร้างพระที่วัด น้าอ้อยจำได้ไหมน้าอ้อยพยักหน้าช้า. ผลบุญที่น้าอ้อยทำในภพชาตินี้จะส่งผลบุญและนำทางให้น้าอ้อยไปภพชาติหน้าที่ดี  น้าอ้อยนึกถึงองค์พระที่น้าอ้อยสร้างไว้นะ เป็นช่วงที่ลูกสาวน้าอ้อยเดินเข้ามาเยี่ยม ฉันแจ้งอาการให้ทราบ ลูกสาวยืนนิ่ง ไม่พูด น้ำตาเริ่มคลอเบ้า ใช้มือปาดน้ำตาที่ไหลออกมา และพูดเสียงสั่นเครือ ” เวลาเหลือน้อยแล้วใช่ไหม แม่จะไม่อยู่กับแล้วเหรอ ฉันจึงพูดว่า ”เข้มแข็งนะ เราได้ทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่มันจะน้อยหรือมาก ไม่สำคัญ ขึ้นอยู่กับเราได้ตั้งใจทำ บุญกุศลแม่ได้รับหมด  ให้บุญนำทางแม่ไป จำวันที่เราคุยกันครั้งแรกได้ไหม เราหนีธรรมชาติของชีวิตไม่ได้  ชีวิตของคนเรามันสั้น  มาแล้วก็ไป ความพลัดพรากเป็นเรื่องธรรมดา  เวลา  ความมีสติ  ความเข้มแข็งทำให้เราผ่านพ้นเหตุการณ์นั้นไปได้  ที่ผ่านมาเราช่วยแม่ปลดห่วงไปได้หลายอย่าง  สิ่งที่แม่เป็นห่วงคลายลงไปมาก แล้วยังมีสิ่งไหนที่เราอยากจะทำ หรือแม่ยังไม่ได้ทำ  ตอนนี้แม่ยังรับรู้  เรายังมีโอกาสเช่นแสดงความรัก  กอด บอกรักแม่ ขอบคุณ ขอโทษ หรือให้แม่อโหสิกรรมสิ่งที่ผ่านมา  ลูกสาวของน้าอ้อยดูเข้มแข็งขึ้น  เดินเข้าไปหาแม่ ก้มลงกอดแม่  กระซิบข้างหูเบาๆ น้าอ้อยพยายามจะลืมตามองลูกสาว  ฉันจึงเปิดโอกาสให้อยู่ตามลำพัง  ลูกสาวน้าอ้อยเดินออกมาเช็ดคราบน้ำตา  แล้วสูดลมหายใจอย่างช้าๆ และพูดกับฉันว่า” แม่เคยบอกไว้  ถ้าแม่หายดีแล้ว  แม่อยากจะไปไหว้พระที่วัดปากช่อง เสียงขาดหายไป  น้ำตาเริ่มคลอเบ้า พูดไม่ออก และหันหลังไปมองแม่ที่เตียง แม่คงไม่ได้ไปอีกแล้ว   ฉันจึงยิ้มและบอกว่า” ไปได้ซิ  เราจะแม่ไปไหว้พระกันลูกสาวน้าอ้อยทำหน้างง “ เราพาแม่ไหว้พระโดยการทำจินตนาการ ฉันจึงเชิญเพื่อนสนิทของน้าอ้อยที่ชอบทำบุญด้วยกันประจำ  แนะนำวิธีการทำ เพื่อพาน้าอ้อยไปไหว้พระตามที่ได้ตั้งใจไว้   แต่การเดินทางไปไหว้พระครั้งนี้อาจไม่เหมือนทุกครั้ง   ไม่มีเสียงหัวเราะ มีแต่เสียงร้องให้..ตลอดกาลเดินทาง

      ผ่านมาอีก2วัน  ฉันขึ้นเวรบ่าย หลังจากส่งเวรเสร็จ  น้าอ้อยไม่รู้สึกตัว หายใจ Air Hunger  สัญญาณชีพบอกถึงอวัยวะต่างๆของร่างกาย ล้าลง จนไม่สามารถจะทำหน้าที่ต่อไปได้อีก  ข้างเตียงมีครอบครัวของน้าอ้อยยืนรอบเตียง  เห็นหลานลูกสาวกำลังอ่านบทสวดมนต์  ฉันจับมือน้าอ้อย “ นึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์  องค์พระที่น้าอ้อยสร้าง ท่านจะนำทางน้าอ้อยไป ขอให้ความเจ็บปวดที่น้าอ้อยมี หายไป  ฉันจึงนำดอกไม้ให้น้าอ้อย “ เอาไปไหว้พระบนสวรรค์นะ  นำเงินใส่มือเพื่อชำระหนี้สงฆ์  เสียง EKG  Monitor  alarm  เป็นช่วงๆ หัวใจเต้นช้าลงเรื่อยๆ  ญาติค่อยๆทยอยเดินเข้ามา สีหน้าทุกคนนิ่ง  สามีของน้าอ้อยเดินเข้าไปลูบหัวเบาๆ ”  อ้อย ไม่ต้องห่วงแม่  น้องและลูกๆนะ พี่จะดูแลแทนเอง  หลับให้สบาย พอสามีของน้าอ้อยพูดจบ EKG  Systole ลากเป็นWave ยาว  ฉันแจ้งเวลาเสียชีวิต ทุกคนยินดีที่จะให้น้าอ้อยจากไป..ด้วยความสงบ ไม่ทุกข์ทรมาน   ทุกคนร่ำลาน้าอ้อยเป็นครั้งสุดท้าย  สามีน้าอ้อยกอดลูกสาวไว้แน่น  “ แม่ไปสบายแล้วลูก ไม่เจ็บ ไม่ปวด อีกแล้ว ลูกสาวน้าอ้อยไม่ร้องให้ฟูมฟาย มีเพียงน้ำตาค่อยๆไหล  สามีน้าอ้อยเดินเข้ามา ยกมือไหว้ และขอบคุณที่ได้ช่วยดูแลอย่างเต็มที่ ไม่คิดว่าจะมีการดูแลแบบนี้ .. ฉันแสดงความเสียใจกับครอบครัวและยินดีที่ได้ร่วมกันดูแลน้าอ้อย และให้ญาติได้อยู่กับน้าอ้อยเป็นครั้งสุดท้าย  

       ภาพเหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้รู้สึกลืมไปจากความทรงจำ  เมื่อนึกถึงฉันกลับรู้สึกอิ่มใจ  ที่ได้มีโอกาสได้ดูแลผู้ป่วยและครอบครัว   ไม่ได้รู้สึกเหนื่อย หรือท้อแท้  หดหู่กับการดูแลผู้ป่วยวาระสุดท้าย  แต่กลับมีกำลังใจที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ การเรียนรู้  และได้สะสมบุญ  ให้กับตัวเรา  ไม่ได้มีอะไรมาวัดความสำเร็จของฉัน  แต่ความอิ่มอกอิ่มใจ  มันยังคงอยู่ในใจเสมอมา ฉันขอขอบคุณน้าอ้อยและ ผู้ป่วยในหน่วยงานทุกคน ที่เป็นครู  ให้ได้สั่งสมความรู้  ความดี ให้ฉันได้ไปใช้ในภพหน้า   ขอบคุณหนังเรื่องทองเนื้อเก้า  ที่ไม่ได้ทำให้เรา สงสารแต่วันเฉลิม(ตอนเด็กเท่านั้น   แต่มีแง่คิด  การเข้าใจธรรมชาติของชีวิต  และยอมรับความเป็นจริง   จุดสุดท้ายของชีวิตก็คือความตาย  จะยากดีมีจนอย่างไร ไม่มีใครหนีพ้น  ……..    

 -----

นางพัชรีรัตน์   เปลี่ยมสะอาด
พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
โรงพยาบาลพระพุทธบาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น