วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การบำรุงรักษาที่นอนลมอย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่อง  การบำรุงรักษาที่นอนลมอย่างมีประสิทธิภาพ
หน่วยงาน  หอผู้ป่วยหนัก 
สภาพปัจจุบัน
          ผู้ป่วยหนักเป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดแผลกดทับ  เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ  มีไข้สูง  ผิวหนังบาง  มีการขับถ่ายที่ไม่สามารถควบคุมได้ และ ภาวะโภชนาการไม่ดี  ในการดูแลเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ     ที่สำคัญคือการหลีกเลี่ยงแรงกดทับ และการขยับท่าทางการนอนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระจายแรงกดทับบริเวณต่างๆซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆโดยการพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยทุก 1-2ชั่วโมง  รวมถึงการเลือกที่นอนลมให้เป็นผู้ช่วยดูแล  การใช้ที่นอนลมเพื่อลดแรงกดทับ เป็นอุปกรณ์เสริมที่สามารถช่วยให้การเกิดแผลกดทับน้อยลง  ข้อมูลปัจจุบัน หอผู้ป่วยหนัก มีผู้ป่วยเฉลี่ย 16 ราย/วัน  อัตราครองเตียงร้อยละ  98.62    มีผู้ป่วยหนัก ที่มี braden  score < 16 วันละประมาณ 14 ราย  ตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยจำเป็นต้องใส่ที่นอนลมเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ  เดิมมีที่นอนลม ซึ่งเป็นแบบลอนยาวความสูงของลอน  10 เซนติเมตร  จำนวน 12 หลัง  ปัญหาในการใช้ที่นอนลมคือ มีการรั่วของลูกลมจากการใช้งานตลอด  ลูกลมแตกทำให้ต้องเอาที่นอนลมออกและพับเก็บไว้บนชั้น  ทำให้ที่นอนลมไม่เพียงพอกับการใช้งานเนื่องจากชำรุด ส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดแผลกดทับเพิ่มขึ้นเนื่องจากที่นอนลมไม่มีประสิทธิภาพ  นอกจากนั้นยังพบว่าเครื่องปั๊มลมเสีย ไม่เป่าลมเข้าที่นอนลม  ทำให้ที่นอนแฟบ  และไม่มีระบบบำรุงรักษาที่นอนลมที่ดีพอ  หอผู้ป่วยหนัก เห็นความสำคัญของการบำรุงรักษาให้ที่นอนลม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  จึงมีการพัฒนาการบำรุงรักษาที่นอนลมขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์  เพื่อให้ที่นอนลม สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เป้าหมาย
          1. ผู้ป่วยที่มี braden  score < 16 ได้รับการใส่ที่นอนลม 100 %
          2. ที่นอนลมสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          3. อัตราการเกิดแผลกดทับ< 5 ครั้ง/ 1000 วันนอน

ระยะเวลาดำเนินการ  พฤษภาคม  -  กันยายน  2557

แนวทางการดำเนินงาน
1. ระดมสมอง วิเคราะห์สาเหตุของการชำรุดของที่นอนลม พบว่าเกิดจาก
1.1 ลูกลมรั่วแตก จาก
1.1.1    การดึงที่นอนลมขณะขยับตัวผู้ป่วย (รั่วบริเวณตะเข็บ)
1.1.2    การตากและการเก็บที่นอนลม ไม่ดี
1.1.3    ลูกลมเสื่อมคุณภาพตามเวลา
1.1.4    ลืมปิดจุกลมหลัง CPR

1.2 ปั๊มลมไม่ทำงาน
1.2.1 ไฟไม่เข้าเครื่อง
1.2.2 สายลมหัก
1.2.3 เดือยหัก
1.2.4         ลมออกไม่สลับรู/ลมออกรูเดียว
2. ระดมสมอง เพื่อหาแนวทางแก้ไข  ดังนี้
2.1 ออกแบบวิธีการตรวจสอบที่นอนลม  เพื่อเป็นแนวทางสำหรับคนงานปฏิบัติ ดังภาพ
2.2 มอบหมายงานให้คนงานเวรเช้า  เป็นผู้ตรวจสอบที่นอนลมที่ใช้กับผู้ป่วยทุกวัน โดยตรวจสอบ  การพองตัวของลูกลม  การรั่ว/แตก   สายท่อลมหักพับงอจากการเลื่อนที่นอนไปมา
2.3 ถ้าพบว่าที่นอนลมรั่ว หรือไม่พอง  หรือลมเป่าไม่สลับลูก ให้นำออกจากผู้ป่วย
2.4 ทำการตรวจสอบลูกลมที่ละลูก โดยการเป่าลมเข้าและนำลูกลมไปจุ่มน้ำเพื่อค้นหาลูกลมที่รั่ว
2.5 เปลี่ยนลูกลมที่รั่วออก โดยเปลี่ยนเฉพาะลูก 
2.6 เมื่อเปลี่ยนลูกลมเสร็จแล้วทำการทดสอบการใช้งานโดยกางที่นอนลม เสียบปลั๊กไฟให้ปั๊มลมทำงาน ตรวจสอบความตึง และการทำงานของปั๊ม  ถ้าปกตินำไปใส่ให้กับผู้ป่วยได้
3. วิธีการตรวจสอบที่นอนลม
          3.1 นำที่นอนลมที่รั่วออกจากผู้ป่วย
          3.2 ปลดลูกลมออกจากที่นอนทีละลูก
          3.3 เป่าลมเข้าลูกลมให้เต็มที่โดยใช้เครื่องปั๊มลม                           

          3.4 นำมาทดสอบการรั่วโดยการจุ่มน้ำ ถ้ามีฟองอากาศปุดขึ้นมา แปลว่าลูกลมรั่ว  ให้นำลูกลมใหม่มาเปลี่ยนแทนลูกลมเก่าที่รั่ว

  ผลการดำเนินงาน
          1. จากการตรวจสอบที่นอนลมบางหลังมีจำนวนลูกลมที่รั่วมากกว่าที่ดี  ไม่สามารถซ่อมแซมหรือเปลี่ยนลูกลมได้ทั้งหมด   จึงจำหน่าย และเก็บลูกลมที่ดีไว้เป็นลูกลมสำรอง
          2. สามารถนำที่นอนลมที่ชำรุดมาเป็นอะไหล่ซ่อมแซม ทำให้ที่นอนลมใช้งานได้ 15 หลัง
          3. ที่นอนลมที่ใช้กับผู้ป่วยมีประสิทธิภาพ พองตึง 100 %
          4. ผู้ป่วยหนัก ในหอผู้ป่วยวิกฤติ ที่มี Braden  score < 16 ได้รับการใส่ที่นอนลม 100 %
          5. อัตราการเกิดแผลกดทับในหอผู้ป่วยหนัก ในเดือน พ.ค. และ ก.ย. 57 เสนอดังกราฟ

ปัญหา อุปสรรค แนวทางการพัฒนาต่อเนื่อง
          1. ไม่มีลูกลมเพียงพอสำหรับเปลี่ยน 
          2. การตรวจสอบที่นอนลมทุกเช้า  พยาบาลกับคนงานควรร่วมมือกันเพื่อให้งานเสร็จโดยเร็ว
          3. ไม่มีที่นอนลมเหลือว่าง เพื่อตรวจสอบและเปลี่ยนได้   จึงควรเพิ่มที่นอนลมสำรอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น