วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การดูแลด้วยใจในไอซียู


ชื่อผลงาน/เรื่องเล่า: การดูแลด้วยใจในไอซียู

สรุปเรื่องเล่าโดยย่อ
ไอซียู ใครได้ยินชื่อก็ไม่อยากใช้บริการ เคยได้ยินไหม ? “ถ้าเข้าไอซียูสามวันแล้วยังไม่ได้ออกมาก็มีหวังน้อยแล้ว” เป็นคำพูดของญาติที่มักได้ยินในทำนองนี้บ่อย ๆ แต่ก็มีบางรายเข้ามารับการรักษาแล้ว คนไข้เขาก็ไม่อยากย้ายออก บางทีก็เป็นญาติหรือเป็นแพทย์เองที่ไม่อยากให้ย้ายออก แต่วาระสุดท้ายก็มาถึง เมื่อเขาจะออกแต่ออกไม่ได้ ต้องอยู่กับพยาบาล ใครหนอจะน่าเห็นใจกว่ากัน

เมื่อพูดถึงไอซียู คงจะเห็นภาพ ห้องที่มีประตูหลายชั้น เมื่อเข้ามาก็ต้องเปลี่ยนรองเท้า ล้างมือตามขั้นตอน บางแห่งก็ต้องให้ญาติสวมเสื้อ ใส่หมวก บางแห่งก็แล้วแต่สะดวกไม่ต้องใส่ ภาพของคนไข้นอนเรียงราย มีสายระโยงระยาง ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ทั้งสายเครื่องช่วยหายใจ สายเครื่องติดตามการทำงานของหัวใจ สายวัดความดันโลหิต สายวัดความอิ่มตัวของออกซิเจน สายน้ำเกลือ สายยางให้อาหาร สายสวนปัสสาวะ แค่นี้อาจยังไม่พอ เพราะญาติก็เพิ่มสายสิญจน์ สายสร้อย พวงมาลัย ให้คนไข้ตามความเชื่อของเขา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ก็ผ่อนปรน ยืดหยุ่นให้ตามสภาพเพราะนั่นถือว่าเป็น “สายใจ” แห่งความหวังและศรัทธา

คนไข้สาวโสด อายุ 36 ปี ใบหน้ากลม ตาโต ผิวขาว จบการศึกษาปริญญาโท เจ็บป่วยด้วยเรื่องเนื้องอกในสมอง ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ มาระยะหนึ่ง ญาติขอย้ายมารับการรักษาต่อโรงพยาบาลใกล้บ้าน  เพื่อสะดวกในการดูแล ที่แรกที่คนไข้ย้ายมาก็คือ ไอซียู คนไข้ไม่ได้ใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่มีปัญหาเรื่องความดันโลหิตหลังผ่าตัดสมอง เข้ามาเพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ไม่กี่วันคนไข้ก็ย้ายออกได้ ไปอยู่ตึกพิเศษ แต่ย้ายไปได้ไม่กี่วัน ก็ย้ายกลับมาด้วยเรื่องชักเกร็ง ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งใช้เวลานานหลายวันกว่าจะเลิกใช้เครื่องได้ ผู้ป่วยได้ย้ายออกไปอยู่ตึกพิเศษมีพ่อแม่เป็นผู้ดูแล ต่อมาคนไข้ก็มีปัญหาหอบเหนื่อยจากปอดอักเสบต้องกลับมาใส่ท่อช่วยหายใจ ย้ายกลับมาไอซียู และไม่สามารถเอาท่อช่วยหายใจออกได้ ต้องเจาะคอ   คนไข้มีอาการแย่ลงจากระดับความรู้สึกตัวรู้เรื่อง ก็เริ่มซึมลง เหม่อลอย ไม่สามารถทำตามคำบอกได้ จากคำบอกเล่าของน้องสาวคนไข้ บอกว่าคนไข้มองไม่เห็นแล้วเนื่องจากเนื้องอกไปกดเส้นประสาทที่ตา ทำให้ดวงตาที่กลมโตคู่นั้นเหม่อลอยไม่มีการสบตากับพยาบาลเลย

การดูแลในวันหนึ่ง ๆ ของคนไข้มีการอาบน้ำบนเตียงเช้า - เย็น การดูดเสมหะ การให้อาหารทางสายยาง การคาสายสวนปัสสาวะ วันหนึ่ง ๆ จะมีพ่อแม่ พี่สาว น้องสาว และเพื่อน ๆ ผลัดเปลี่ยนกันมาเยี่ยมเสมอ จนหลัง ๆ พยาบาลกับญาติก็ได้แต่ยิ้มเฝื่อน ๆ เพราะไม่รู้ว่าจะถามหรือตอบอะไรแล้ว แต่เมื่ออาการคงที่ผู้ป่วยสามารถฝึกหายใจไม่ต้องพึ่งเครื่องช่วยหายใจแล้ว พยาบาลได้สอบถามความคิดเห็นของญาติเกี่ยวกับการย้ายไปดูแลที่ตึกพิเศษ ญาติต้องการที่จะให้คนไข้อยู่ไอซียูมากกว่าเนื่องจากไว้วางใจเมื่อมีอาการฉุกเฉินจะได้ช่วยเหลือทัน พยาบาลสอบถามแพทย์ถึงแผนการดูแล แพทย์ตอบว่า “ย้ายไปก็มีปัญหาเหนื่อยหอบอีก ก็ให้อยู่ที่นี่จน อื้อ...(ลากเสียงยาวพร้อมกับเคลื่อนใบหน้าไปตามเสียง) ก็แล้วกัน”  พยาบาลได้ส่งเวรกันตามแบบที่แพทย์ทำ และให้การพยาบาลตามปกติทุกวัน

การพยาบาลที่ทำให้ดิฉันรู้สึกว่าเป็นการพยาบาลที่สามารถเข้าถึงความรู้สึกคนไข้ได้ และช่วยในเรื่องความสุขสบายที่แท้จริงคือ  การนวดด้วยใจ  ดิฉันเริ่มนวดด้วยใจหลังจากไปอบรมเครือข่ายบริการโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลสระบุรีจัดที่โรงแรมกรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ รุ่น 1 ดิฉันได้นวดให้คนไข้เสมอเมื่อมีโอกาส ผลลัพธ์ที่ได้มากกว่าที่คิดไว้ ตอนแรกที่นวดก็เพื่อให้คนไข้รู้สึกผ่อนคลาย สบายขึ้นถึงแม้เขาไม่สามารถบอกได้ แต่จากการประเมินอาการชีพจร ความดัน การหายใจ ดีขึ้นและที่สำคัญ ผู้ป่วยลืมตามากขึ้น บางครั้งมี น้ำตาคลอเบ้า ดิฉันเข้าใจว่าเขาคงซาบซึ้ง ขอบคุณเรา  นอกจากนี้สัมพันธภาพกับญาติก็ดีขึ้น ดิฉันอธิบายในเรื่องการนวดให้คนไข้ การใช้เบบี้ออยล์ทาขณะนวด ซึ่งญาติก็สนใจซื้อมานวดให้คนไข้  มันเป็นสัมพันธภาพที่ดีกว่ายิ้มแบบเฝื่อน ๆ

การนวดด้วยใจของดิฉันทำได้ทุกเวรเมื่อมีโอกาสทั้งคนไข้มะเร็งและไม่ใช่มะเร็ง ผลลัพธ์ที่ได้ นอกจากความสุขสบายที่ผู้ป่วยได้รับแล้ว ดิฉันก็สามารถให้การพยาบาลได้อย่างอิสระ ไม่ต้องรอแผนการรักษา มีแพทย์ที่เห็นดิฉันนวดให้คนไข้ เขาก็ทำหน้าตกใจแล้วบอกว่า “มีการนวดด้วยหรือ ? ไม่เห็นนวดให้คนไข้ผมบ้างเลย” ดิฉันเลยตอบแบบยิ้ม ๆ ว่า “ก็หมอเขียน consult มาซิคะ” แพทย์บางคนก็ทำตาโตบอกว่า “ดีจัง มีสปาให้คนไข้ด้วย” ญาติคนไข้เห็นก็ทำตามบ้างทั้งเตียงที่นวดอยู่ และเตียงอื่น ๆ นอกจากนี้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนคือ น้อง ๆ พยาบาลตลอดจนผู้ช่วยเหลือคนไข้ขอให้ดิฉันสอนนวด ซึ่งดิฉันภูมิใจมากที่ทีมการพยาบาลเห็นคุณค่าในการกระทำนี้

และแล้ววาระสุดท้ายก็มาถึง วันนั้นดิฉันขึ้นเวรเช้าได้นวดให้คนไข้รายนี้ ดูคนไข้ไม่ค่อยมีการตอบสนอง คนไข้ซึมลง ปัสสาวะไม่ออก ต้องใส่สายสวนปัสสาวะให้แล้วพบว่ามีปัสสาวะเป็นเลือด รายงานแพทย์ได้สั่งการรักษา ต่อมามีความดันโลหิตต่ำ ได้รับยาเพิ่มความดัน และแจ้งญาติ ซึ่งพวกเขาก็พากันมาเยี่ยมหลายคน ผู้ป่วยอาการแย่ลง ผ่านไป 2 วัน ดิฉันกลับมาขึ้นเวรดึก คนไข้ก็เสียชีวิตประมาณตีหนึ่ง ญาติมาเยี่ยมกันพร้อมหน้า น้องสาวคนไข้ขอนำคนไข้กลับบ้านเลย พยาบาลผู้ดูแลได้ชี้แจงตามระเบียบต้องให้คนไข้อยู่บนตึก 2 ชั่วโมงก่อนเคลื่อนย้ายไปห้องเก็บศพ ญาติยืนยันที่จะนำคนไข้กลับบ้านเพราะต้องการให้กลับเลยไม่ต้องการให้นำไปห้องเก็บศพ พยาบาลผู้ดูแลได้ให้คุยกับพยาบาลตรวจการ ซึ่งพยาบาลตรวจการก็ไม่อนุญาตให้นำศพกลับ และให้ทำตามระเบียบ ดิฉันได้สอบถามน้องสาวคนไข้ถึงสาเหตุที่ต้องการนำคนไข้กลับ ได้ความว่า เป็นคำขอร้องของคนไข้ที่ไม่ต้องการอยู่ห้องเก็บศพหลังจากที่ตายแล้ว ดิฉันจึงเข้าใจและคิดว่าเราอุตส่าห์ดูแลเขาจนวาระสุดท้ายจะเกิดข้อขัดแย้งตอนรับศพซึ่งไม่ควรที่จะให้เป็นปัญหา จึงได้อธิบายอย่างเข้าใจความรู้สึกของญาติ ว่าสาเหตุที่เราไม่ให้กลับเนื่องจากเป็นเวลากลางคืนการเคลื่อนย้ายออกนอกโรงพยาบาลไม่สะดวก เพราะต้องทำหลักฐานหลายอย่าง อีกทั้งถ้าพบด่านตำรวจ อาจถูกมองว่าเป็นการฆาตกรรมได้ ซึ่งญาติเข้าใจ ยอมรับที่จะนำคนไข้กลับเวลาเช้า แต่ญาติไม่ขอนำคนไข้ไว้ห้องเก็บศพ หลังเสียชีวิต 2 ชั่วโมง ดิฉันจึงได้ปรึกษาในทีมการพยาบาลว่า ถ้าครบ 2 ชั่วโมงก็ให้คนไข้นอนเตียงเดิมก่อน  ถ้ามีคนไข้อื่นต้องการเตียงจะย้ายเตียงคนไข้นี้ไปอีกด้านหนึ่ง ซึ่งญาติเห็นด้วย แล้วพวกเขาก็พากันออกไปรอข้างนอกไอซียู ดิฉันเดินออกไปถามว่าทำไมไม่กลับไปนอนที่บ้านพัก   น้องสาวคนไข้ตอบว่า “ไม่อยากทิ้งคนไข้ไว้คนเดียวถึงแม้จะตายแล้ว” ดิฉันรับรู้ถึงความรู้สึกผูกพันที่เขามีให้กัน พวกเราพยาบาลก็ได้ให้การดูแลคนไข้อื่น ๆ ตามปกติ และมองคนไข้ที่นอนบนเตียงด้วยความเศร้าใจปนหวาด ๆ และเมื่อถึงตอนเช้า เราก็จัดการทุกอย่างเรียบร้อย ญาติมาขอบคุณยกมือไหว้หลายครั้ง หลายคน จนถึงขณะนี้ เราเจอกับน้องสาวคนไข้เค้าก็ยกมือไหว้ เราก็รับไหว้และยิ้มให้กันเสมอ

ชื่อและที่อยู่ขององค์กร: หอผู้ป่วยหนัก โรงพยาบาลพระพุทธบาท 86 หมู่ 8 ต.ธารเกษม อ. พระพุทธบาท จ. สระบุรี 18120

สมาชิกทีม: นางสำราญ  จันทร์พงษ์  นางสาวอรอุมา  บัวภา  นางพัชรีรัตน์  เปลี่ยนสะอาด
เป้าหมาย: เพื่อความสุขสบายทั้งกายและใจของผู้ป่วยและญาติ

ที่มาของปัญหา: ในหอผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว ถูกจำกัดกิจกรรมต้องนอนบนเตียง ได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคที่เป็นอยู่ การดูแลเป็นไปตามแผนการรักษา และให้การพยาบาลตามปกติประจำวัน จนบางครั้งความรู้สึกชินชา ทำงานเหมือนเครื่องจักร ทำงานด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่หัวใจด้านชา ขาดความรู้สึกในการดูแลด้วยใจ ทั้งที่เป็นหัวใจในการพยาบาล การปฏิบัติการพยาบาลโดยไร้ความรู้สึก เราก็ไม่ต่างจากเครื่องจักรกล ดังนั้น การพยาบาลด้วยใจจะทำให้งานเกิดคุณค่ามากขึ้น

กิจกรรมการแก้ปัญหา/พัฒนา
นวดด้วยใจให้เป็นตัวอย่างที่ดีให้ทีมได้เห็นกับตาด้วยตนเอง
บันทึกในสมุดการพยาบาล Comfort care หลังนวดทุกครั้งและมีการจดผลลัพธ์หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
สอนการปฏิบัติการนวดด้วยใจแก่ทีมพยาบาลผู้สนใจ
ประเมินผลหลังการสอนทุกคน
จัดประชุม Comfort care ให้เจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยหนัก
วางแผนทำ R2R ในเรื่องนวดด้วยใจในผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น: เจ้าหน้าที่กระตือรือร้นในเรื่องการนวดด้วยใจ มีเรื่องเล่าหลังนวดด้วยใจ ทั้งเรื่องของคนไข้ คนในครอบครัว เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดี

บทเรียนที่ได้รับ: การดูแลด้วยใจ ให้อะไร อะไรได้มากกว่าที่คิด

การติดต่อกับทีมงาน: นางสำราญ  จันทร์พงษ์ หอผู้ป่วยหนัก โรงพยาบาลพระพุทธบาท เบอร์โทร 086-5236798 e-mail: petch_j@yahoo.com


2 ความคิดเห็น: