วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

พลาสเตอร์ติดแน่น


1.  ชื่อผลงานคุณภาพ : ลาสเตอร์ติดแน่น

2.  ชื่อ สกุล  และสมาชิก ศัลยกรรม 3 โรงพยาบาลพระพุทธบาท

3.  สรุปผลงานโดยย่อ :  ปรับเปลี่ยนวิธีการตัดและติดพลาสเตอร์ในผู้ป่วยที่ใส่สายระบาย ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการยึดติด ป้องกันการเลื่อนหลุดของสายระบาย     

4.  ปัญหาและสาเหตุโดยย่อ : ผู้ป่วยทางศัลยกรรม ที่มีสายระบายต่างๆ มักจะพบปัญหาของการเลื่อนหรือหลุดจากการดึงรั้งของสายระบาย ซึ่งมีผลต่อผลลัพท์การดูแลผู้ป่วย ทำให้ต้องใส่สายระบายใหม่ ทำให้เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายและก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานกับผู้ป่วย แต่บางกรณีก็ไม่สามารถที่จะใส่ใหม่ได้ เช่น ท่อระบายที่ต่อออกมาจากแผล (radivac dreain) อาจส่งผลต่อการรักษา เช่นเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่บาดแผล ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยที่มีสายระบายต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ดูแลต้องเฝ้าระวังไม่ให้สายระบายต่างๆเลื่อนหรือหลุดก่อนกำหนด ดังนั้นทางแผนกศัลยกรรม 3จึงได้พัฒนาการตัดและติดพลาสเตอร์ในผู้ป่วยที่ใส่สายระบายต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดติดสายต่างๆให้ดียิ่งขึ้น

5.  วัตถุประสงค์ผลงานคุณภาพ : เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดติดพลาสเตอร์ 

6.  กิจกรรมการพัฒนา/วิธีการดำเนินงาน :
  1. กำหนดวิธีการตัดพลาสเตอร์  โดยขนาดความกว้างของพลาสเตอร์ขึ้นผู้กับขนาดของท่อระบายต่างๆ
  2. กำหนดแนวทางการติดพลาสเตอร์
  3. กำหนดให้มีการตรวจสอบทุกวัน ทุกเวร


7.  การวัดผลและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น : ลดการเลื่อนหลุดของสาย radivac dreain  ส่วนการติดที่สาย foley ’s catheter  มีการยึดติดดีสามารถยึดติดอยู่ได้ประมาณ 3 วันซึ่งต้องเปลี่ยนพลาสเตอร์ใหม่เนื่องตัวของพลาสเตอร์หมดสภาพ

8.  การนำไปใช้ประโยชน์ : นำไปใช้ในการยึดติดพลาสเตอร์ ในผู้ป่วยที่ใส่สายต่างๆ เช่น สาย radivac dreain  สาย foley ’s catheter  เป็นต้น

ติดต่อทืมงาน   นางสาวพรพิมล  รัตนสุวรรณ   หัวหน้าหอผู้ป่วยศัลยกรรม 3 โรงพยาบาลพระพุทธบาท  
                       โทร 036 266166  โทรสาร 036 266112

วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ขอบคุณจากใจ


ผมเป็นลูกจ้างประจำ  ตำแหน่งผู้ช่วยเหลือคนไข้  ประจำอยู่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน  โรงพยาบาลพระพุทธบาท หน้าที่หลักของผม คือ ขับรถ EMS ไปรับผู้ป่วยที่บ้านและตามท้องถนนเมื่อเกิดอุบัติเหตุ  บันทึกข้อมูลใน Computer  และทำงานตามที่หัวหน้าและพยาบาลมอบหมาย  ทำงานเป็นพลัดเช้า,บ่าย,ดึก,มีอาชีพเสริม  คือ  ขายรถยนต์มือสอง

วันหนึ่งหลายปีมาแล้วตอนนั้นผมทำงานเป็นคนงานอยู่แผนกอายุรกรรมชาย  วันนั้นจำได้ว่า เวลาประมาณ 9 โมงเช้า ผมกำลังเช็ดหน้าต่างอยู่ผมได้ยินเสียงผู้หญิง อายุประมาณ 60 ปี  นั่งคุยอยู่กับลูกชายอายุประมาณ 30 ปี
ผู้เป็นแม่พูดว่าลูกไปยืมเงินเถ้าแก่ เขาให้มาเท่าไร 
ลูกชายตอบว่า เถ้าแก่ให้มา  8,000  บาท  เขาบอกว่า เราเอาของเขามามากแล้ว
ผู้เป็นแม่พูดเสียงเครือปนสะอื้นว่า ถ้าหมดเงินก้อนนี้พ่อเอ็งยังไม่ฟื้นหรือดีขึ้นเราจะไปหาเงินที่ไหนอีก  เราคงต้องเอาพ่อกลับไปตายบ้าน    ทั้งสองคนเงียบไปคู่หนึ่ง 
แม่ก็...เถ้าแก่เขาให้มาแค่นี้  ลูกชายพูดเสียงเครือ 
ผมทำงานอื่นต่อไปจนเสร็จไม่รู้ว่าสองแม่ลูกคุยอะไรกันต่อ  เกือบ 5 โมงเช้าผมทำงานเสร็จยังไม่ถึงเวลาเยี่ยมไข้  ผมเห็นผู้เป็นแม่นั่งอยู่คนเดียว  ผมก็เข้าไปหาแล้วพูดกับผู้เป็นแม่ว่า
ยายบ้านอยู่ที่ไหนครับ 
บ้านยายอยู่บ้านดีลังยายแกตอบ 
แล้วลูกชายยายไปไหนแล้วล่ะ
กลับบ้านไปแล้วอาศัยรถเขามา เจ้าของรถเขากลับเลยต้องกลับ ยังไม่ได้เข้าไปดูพ่อเลยผมพูดกับยายว่ายายผมขอโทษนะ เมื่อสักครู่นี้ ผมได้ยินยายคุยกับลูกชายว่าไปกู้เงินเขามารักษาตาหรือ 
ยายแกตอบ จ๊ะ ได้มาแค่ 8,000 บาท

ผมนึกในใจ สมัยนั้นเงิน 8,000 บาทก็มากพอสมควร ถ้ายายนำเงินมารักษาตาจนหมด จะเอาเงินที่ไหนไว้ซื้ออาหาร  ผมจึงพูดกับยายว่า ยายเงินที่ไปกู้เขามา  ไม่ต้องจ่ายหมอเขาหมดหรอก จ่ายสักสองสามพันบาทก็พอ เพราะยายจ่ายเงินสดไปบ้างแล้ว 
ยายแกมองหน้าผมแล้วพูดว่า  แล้วหมอเขาจะรักษาตาให้หายหรือ
ผมก็บอกยายไปว่า รักษาซิยาย ถ้าคนไข้ไม่มีเงินทางโรงพยาบาลมีสังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือ เดี๋ยวผมจะช่วยพูดกับหัวหน้าผม ให้ช่วยส่งไปหานักสังคมสงเคราะห์  ผมนั่งคุยกับยายอยู่ครู่หนึ่งก็ขอตัวไปทำงาน  
 พอมีโอกาสผมก็เข้าไปหาหัวหน้าเล่าให้หัวหน้าฟังแล้วหัวหน้าก็เรียกยายเขาไปคุย  แล้วให้ผมพายายไปที่แผนกสังคมสงเคราะห์  ผมก็แนะนำให้ยายพูดไปบ้าง  พอถึงแผนกสังคมสงเคราะห์  แกก็พูดแบบที่ผมแนะนำไปจนหมด  พอนักสังคมสงเคราะห์ถามแกมาก ๆ ยายแกไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร  แกก็ตอบกับนักสังคมสงเคราะห์ว่า  ก็คนหนุ่ม ๆ ที่พายายมาเขาบอกให้ยายพูดแค่นี้  ผมถูกนักสังคมสงเคราะห์เรียกไปตำหนิว่า  เราเป็นเจ้าหน้าที่อย่าแนะนำผู้ป่วยและญาติแบบนี้อีก  ผมบอกกับ นักสังคมสงเคราะห์ว่า พี่ครับ ยายแกไม่มีจริง ๆ ครับ เงินที่จ่ายไป แกก็กู้มา   ผมได้ยินยายแกพูดว่าถ้าหมดเงินก้อนนี้แล้วจะเอาตาไปตายที่บ้าน  ผมสงสารแกครับ  นักสังคมสงเคราะห์พูดว่า เข้าใจล่ะ       ต่อมาตาแกก็ได้รักษาฟรีนอนรักษาตัวอยู่เกือบเดือนก็หายและได้กลับบ้าน 

        วันที่แกกลับบ้าน  ผมหยุด  ตอนนั้นผมพักอยู่กับพี่สาวหลังโรงพยาบาล  ยายพาตานั่งรถสามล้อ  ไปหาผมที่บ้านพี่สาว  ยายบอกกับตาว่า  ถ้าไม่ได้ผมแนะนำตาคงตายไปแล้ว  ทั้งตาและยายยกมือไหว้ผมให้พรยกใหญ่  ที่จริงแล้วผมไม่ได้ช่วยอะไรเขามากมายเลย  จริง ๆแล้วตอนนั้นผมไม่ได้คิดอะไรเลยและก็ลืมไปแล้วด้วย  

        จนมาถึงเดือนมีนาคม  2553  ผมถึงได้รู้ว่ายายกับตาตอนนั้น  เขาคงมีความรู้สึกเหมือนผมตอนนี้  คือ  ตอนที่ลูกชายผมป่วยหนักมาก  ทั้งคุณหมอ  พยาบาลและเจ้าหน้าที่ทุกคน  ช่วยกันดูแลลูกผมเต็มที่ โดยเฉพาะหัวหน้า ER พี่ ๆเพื่อน ๆและน้อง ๆทุกคนใน ER หลาย ๆคนต่างช่วยติดต่อโรงพยาบาลในกรุงเทพให้ จนได้ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลราชวิถี  และพอจะกลับมารักษาต่อที่โรงพยาบาลพระพุทธบาท  พี่ ๆ และทุกคนใน ER ก็ช่วยกันติดต่อคุณหมอ  หาเตียง ICU และรถพยาบาลให้ไปรับกลับโดยเร็วถึงได้กลับมารักษาต่อที่โรงพยาบาลพระพุทธบาท  จนหายและกลับบ้านได้
ผมและครอบครัวของผม  ขอขอบคุณโรงพยาบาลพระพุทธบาท  คุณหมอ พี่ ๆ เพื่อน ๆ และน้อง ๆ ชาว ER ทุกคนครับ

บันทึกเรื่องราวและประสบการณ์โดย 
                                            สมาน  รอดละม้าย
                ผู้ช่วยเหลือคนไข้  แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน 
โรงพยาบาลพระพุทธบาท

ทำด้วยใจ หายเหนื่อย ...


ขึ้นเวรดึกวันนี้ รู้สึกเหนื่อยล้า ตั้งแต่ยังไม่ได้ทำงาน  บอกกับตัวเองทุกวัน สิ่งที่ทำคือ หน้าที่  หน้าที่ และหน้าที่ แต่ก็ยังไม่เห็นหายเหนื่อยรับเวรเสร็จ เดินดูคนไข้  ตั้งแต่เตียง 1 จนมาถึงห้องแยก 1 เป็น Case คนไข้ผู้ชายสูงอายุวาระสุดท้ายซึ่งป่วยเป็นโรคหัวใจและอัมพาต ไม่รู้สึกตัวนอนอยู่บนเตียงที่มีเครื่องพันธนาการยื้อและยืดชีวิตมากมาย  มียาเพิ่มความดันโลหิตให้ไว้ปริมาณขนาดสูงสุด มาถูกทางแล้ว เป็นคำพูดของคุณหมอที่เราคุ้นหู    เงยหน้ามองไปที่ Monitor EKG  หัวใจของคนไข้คงล้าเต็มที แม้จะมียาขนานเอกพอที่จะยืดเวลาออกไปได้อีก  ความทรงจำเก่า ๆ ผุดขึ้นมา  ภาพที่พ่อเคยนอนอยู่บนเตียง ไม่แตกต่างจากคนไข้รายนี้    สุดท้ายคนเราทุกคนก็ย่อมเป็นไปตามธรรมชาติ  ไม่สามารถที่จะฝืนธรรมชาติ   เข้ามาในห้องนี้ทีไร แล้วต้องเจอคนไข้วาระสุดท้าย รู้สึกหดหู่ชอบกล  ยิ่งตอนญาติร้องไห้ ใจคอไม่ดี  พาลจะร้องไห้ตามญาติไปอีกคน     คิดในใจ ตาคงไม่เสียวันนี้หรอกมั้ง

ฉันถอนหายใจแล้วพยายามสลัดความคิดเก่าๆ ออกไป เดินเข้าไปยืนข้างเตียงจับมือคนไข้ เรียก ตา เป็นอย่างไรบ้าง...เหนื่อยไหม อดทนหน่อยนะ กำหนดลมหายใจเข้าออก พระอยู่ในใจนะตา นึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  คุณงามความดี ที่เคยได้ทำ จะได้เป็นแสงสว่างนำทางไปในภพชาติที่ดี  

       เวลาผ่านไปอีกหลายชั่วโมง มองดูนาฬิกา 04.40 น.  หลังทำกิจกรรมอื่นๆเสร็จ ลุกไปดูคนไข้อีกรอบ  ประเมินสัญญาณชีพ หัวใจเต้นช้าลงกว่าเดิม ความดันโลหิตวัดไม่ได้ ติดต่อประชาสัมพันธ์ให้ติดต่อญาติทางโทรศัพท์ ไม่นานเสียงโทรศัพท์สายนอกดังขึ้น

ฉันรีบรับโทรศัพท์ สวัสดีค่ะICU 1 ค่ะ
เสียงประชาสัมพันธ์งัวเงียเล็กน้อย ติดต่อญาติได้แล้วค่ะ 
หลังจากประชาสัมพันธ์วางสายลง ได้ยินเสียงจากปลายสาย พูดเสียงเครือว่าคุณพ่อเสียชีวิตแล้วเหรอคะ
ฉันจึงตอบว่า ยังค่ะ โทรแจ้งญาติว่าตอนนี้ตาหัวใจเต้นช้าลง  ความดันโลหิตวัดไม่ได้  มีโอกาสเสียชีวิต  ญาติต้องการมาเยี่ยมตาหรือเปล่าค่ะ
เสียงญาติรีบตอบกลับมา พยาบาลให้เข้าเยี่ยมได้จริงเหรอคะ
ฉันตอบกลับไปว่า ได้ค่ะ
จากน้ำเสียงของญาติแสดงออกถึงความรู้สึกดีใจ ค่ะๆ แล้วจะรีบมา

เพียงไม่ถึง 20 นาที เสียงกดกริ่งหน้าตึกก็ดังขึ้น ฉันเดินไปเปิดกระจกพบญาติประมาณ 3 คน  สิ่งที่สังเกตเห็น คือผู้หญิงวัยสูงอายุกับผู้หญิงวัยกลางคน  2 คนยืนประคองกันอยู่  ผู้หญิงสูงอายุท่าทางไม่ค่อยแข็งแรง  ตา 2 ข้าง ดูแดงช้ำ เหมือนพึ่งผ่านการร้องไห้มาอย่างหนัก    
เมื่อญาติถึงเตียงคนไข้  ญาติถึงกลับปล่อยโฮ กอดคนไข้แน่นและพูดว่า   คิดว่าจะไม่มีโอกาสได้ดูใจคุณพ่อเป็นครั้งสุดท้ายแล้วและร้องไห้กันเสียงระงมทั่วห้อง   ฉันเปิดโอกาสให้ญาติและคนไข้ได้อยู่กันตามลำพัง ปิดม่านให้ เสียง Monitor EKG alarm  เป็นช่วงๆ ดู wave  ห่างขึ้นเรื่อย คิดในใจตาคงจะรอญาติ
สักครู่ใหญ่ฉันเดินกลับเข้าไปในห้องคนไข้ แจ้งอาการกับญาติ ตอนนี้หัวใจเต้นช้าลงเรื่อยๆ  ความดันโลหิตวัดไม่ได้
ญาติพยักหน้ารับทราบ คราวนี้สีหน้าดู สดชื่นขึ้น แม้ยังมีคราบน้ำตาทั่วใบหน้า  ลูกสาวของตาเดินมาหาและจับมือเราแน่น ขอบคุณพยาบาลมากนะคะ พี่คิดว่าพี่คงไม่มีโอกาสได้กอดคุณพ่อเป็นครั้งสุดท้าย
พูดยังไม่ทันจบ น้ำตาก็ไหลอาบแก้ม  2 ข้าง กอดเราแน่น และพูดซ้ำ  ๆ ขอบคุณจริง ๆ เราเข้าใจว่าญาติจะไม่มีโอกาสได้เข้ามาดูใจในวาระสุดท้าย   คงจะได้รับโทรศัพท์แจ้งตอนเสียชีวิตครั้งเดียว  ตายตอนไหนก็ไม่รู้ กลับถึงบ้านร้องไห้ทุกวัน พี่ทำใจไม่ได้สงสารคุณพ่อ

        ฉันจึงชี้แจงว่าปกติ ถ้าคนไข้อาการไม่ดี  เราจะให้ญาติเข้ามาเยี่ยมได้  หรือแนะนำให้โทรศัพท์ถามอาการ   ถ้าคนไข้มีอาการเปลี่ยนแปลงพยาบาลจะโทรศัพท์แจ้งเป็นระยะๆ
         ลูกสาวคนไข้ค่อย ๆผละออกจากฉันพยักหน้ารับและพูดว่า แต่...ตอนนี้ไม่ใช่อย่างที่คิดไว้เลย  พี่ไม่รู้จะพูดคำว่าอะไร...
          ญาติเดินกลับมาเตียงคนไข้  กระซิบข้างหูเบาๆและบอกว่า  ไม่ต้องห่วงนะคุณพ่อ  ลูกจะดูแลคุณแม่ให้ดีที่สุด  คุณพ่อไปดีนะ  หลับให้สบาย  ไม่ต้องกังวล
ยังไม่ทันขาดคำ  คลื่นหัวใจก็ลากเป็น Wave ยาว ฉันบอกญาติว่า คนไข้เสียชีวิตแล้วนะคะ
ญาติพากันก้มกราบเท้าคนไข้  ได้ยินเสียงร้องไห้เบา ๆ  ฉันแสดงความเสียใจและนำญาติยืนไว้อาลัยประมาณ 1 นาที  
         ญาติยิ้มทั้งน้ำตา ไม่มีใครร้องให้ฟูมฟาย
ฉันเดินออกมาด้านนอกม่าน  มองดูนาฬิกาจะ 6 โมงเช้าแล้ว  ไม่น่าเชื่อว่า ความรู้สึกเหนื่อยล้าของฉันที่เกิดขึ้นก่อนขึ้นเวรดึก  มันหายไปไม่รู้ตัว กลับกลายเป็นความรู้สึกดี ๆ มีความสุข งานที่คิดว่าเป็นหน้าที่ แต่เมื่อมันอยู่ตรงหน้า ถ้าเราทำด้วยใจ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ความอิ่มอกอิ่มใจ  หายเหนื่อย...

บันทึกเรื่องราวและประสบการณ์โดย 
 พัชรีรัตน์  เปลี่ยนสะอาด  หอผู้ป่วยหนัก
บรรณาธิการเรื่องเล่า โดย : กาญจนา สรรพคุณ

ความประทับใจจากการให้…

ความประทับใจจากการให้

    ก่อนขึ้นปฏิบัติงานทุกครั้ง  พวกเราชาว ER  จะเป็นเหมือนๆกันคือ ภาวนาว่าวันนี้ขออย่าให้ยุ่ง เช้านี้เป็นวันแรกของสัปดาห์ ฉันต้องรีบเดินทางไปทำงานโดยมีพ่อบ้านขับรถไปส่งถึงโรงพยาบาลประมาณ 7.30 น. เมื่อเปิดประตูห้องฉุกเฉินย่างก้าวเข้าไปสายตาก็กวาดไปทั่วห้อง  บรรยากาศของเวรดึกดูไม่ค่อยยุ่งสักเท่าไหร่  มีคนไข้รอตรวจ 2-3 ราย  ทักทายเวรดึกตามประสาพี่น้อง  เซ็นชื่อทำงาน ดูแลความเรียบร้อยห้อง Observe หลังจากนั้นก็รับเวร  ร่วม Conference  เสร็จสรรพก็ประมาณ  8 โมง 45 นาที 

  วันนี้ฉันทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลผู้ป่วยที่ต้องสังเกตอาการในห้อง observe และช่วยดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินด้วย  บรรยากาศการทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น  คนไข้ทยอยมารับบริการตลอด
   เสียงพยาบาลรุ่นพี่ ตะโกนมา รินทร์ช่วยพ่นยาให้เด็ก 1 คน  ฉันรับบัตรมาดู order แพทย์  แล้วเตรียมยาสำหรับพ่นให้เด็ก  คนไข้เป็นเด็กผู้หญิงอายุ 6 เดือน ผิวขาว หน้าตาน่ารักมาก  ส่วนแม่เด็ก รูปร่างผอม ผิวคล้ำ ใส่เสื้อผ้าเก่าๆ ขณะพ่นยา  เด็กดิ้นและร้องไห้ตลอด ฉันจึงช่วยแม่จับเด็ก  ทำให้มีเวลาพูดคุยกับแม่เด็ก
  เด็กเป็นลูกคนที่เท่าไหร่จ๊ะ ฉันเริ่มชวนคุย
  ลูกคนแรกค่ะ แม่เด็กตอบ
  มีญาติมาด้วยหรือเปล่า  พ่อเด็กมาด้วยมั้ย ฉันถามต่อ
   แม่เด็กสีหน้าสลดลง ก้มหน้าอยู่ชั่วขณะ ฉันรู้สึกว่าเขาคงมีเรื่องไม่สบายใจ เมื่อแม่เด็กเงยหน้าขึ้น ฉันจึงสบตาและยิ้มให้ เพื่อสื่อสารว่า ฉันกำลังรอฟังเรื่องราวของเขาอยู่ด้วยความเต็มใจ
   สามีหนูเป็นคนมอญ  เราอาศัยอยู่ด้วยกันที่ห้องเช่าหลังโรงพยาบาลพระพุทธบาท  หนูดูแลแม่อายุ 60 ปี ที่ป่วยเป็นเบาหวาน  สามีและหนูมีอาชีพรับจ้างทั่วไป  หนูอยากมีลูกมาก  ส่วนสามีไม่อยากมีลูกเพราะกลัวไม่มีเงินเลี้ยง  ต่อมา  หนูตั้งท้องแต่ไม่กล้าบอกสามี  ในที่สุดเขาก็รู้และมีปากเสียงกัน หลังจากนั้นก็หนีจากไปโดยไม่ติดต่อมาเลย  หนูต้องอยู่อย่างยากลำบาก เลี้ยงลูกด้วยตัวเองและยังดูแลแม่ด้วย

   พอได้ฟังเรื่องราวของแม่เด็ก  ฉันมีความรู้สึกว่า สงสารทั้งแม่และเด็กที่ต้องอยู่โดยไม่มีพ่อคอยดูแล  และต้องทำงานคนเดียวเลี้ยงคนในครอบครัว  ก็เลยถามต่อว่า
   “เธอให้ลูกกินนมอะไร
   “ให้กินนมข้นหวาน ชงใส่ขวดให้ดูด เพราะหนูไม่มีน้ำนมและไม่มีเงินซื้อนมผง  แล้วลูกก็กินเก่งด้วย หนูเคยได้ยินว่านมข้นหวานมันไม่ดีต่อเด็ก พยาบาลเขาบอก แต่หนูไม่มีทางเลือก 
หัวใจของคนเป็นแม่ ความรู้สึกในตอนนั้นฉันสงสารเด็กมาก
ฉันจะมีวิธีช่วยเขาได้อย่างไร จริงซิลูกฉันที่อายุใกล้เคียงกับลูกเขา  แพ้โปรตีนนมวัว  ไม่สามารถที่จะกินนมที่มีส่วนผสมของนมวัวได้
และก่อนหน้าที่ลูกจะแพ้นมวัว ฉันได้ซื้อนมผงที่มีส่วนผสมนมวัวสำหรับเด็กเล็กมาไว้ 1 ลัง และญาติซื้อมาให้อีก 1 ลัง รวมทั้งหมด 2 ลัง และยังไม่ได้นำไปเปลี่ยนที่ร้านค้าที่ซื้อมา
พรุ่งนี้เธอมาหาพี่นะ พี่จะเอานมมาให้ 2 ลังฉันบอกแม่เด็ก
ขอบคุณมากค่ะ ขอบคุณจริงๆ หนูมีนมดีๆกินแล้วนะลูก  หนูต้องขอบคุณป้าด้วยนะลูก แม่เด็กกล่าวด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น ดีใจ 

วันต่อมาฉันก็นำนมทั้ง 2 ลังที่เก็บไว้มาให้กับแม่เด็ก  เธอดีใจมาก  กล่าวขอบคุณตลอด  เห็นท่าทางของแม่เด็กที่แสดงความดีใจและเห็นหน้าตาที่น่ารักของเด็กแล้ว ฉันรู้สึกดีใจที่ตัวเองได้มีส่วนช่วยครอบครัวของเด็กคนนี้ได้พอควร  ถึงแม้นม 2 ลังอาจจะกินได้ประมาณ 2 3 เดือนก็หมด  แต่อย่างน้อยก็ลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวเขาได้ และเป็นความปลื้มใจที่เราได้ช่วยเหลือคนที่ลำบากกว่าเรา

      ทุกวันนี้แม่เด็กยังรับจ้างกวาดใบไม้ในวัดพระพุทธบาท  และรับจ้างทั่วไป  ส่วนเด็กก็อายุเกือบ 2 ขวบแล้ว  หน้าตาน่าเอ็นดู  เวลาที่ฉันเข้าไปนมัสการรอยพระพุทธบาทแม่เด็กก็จะเข้ามายกมือไหว้ทักทายและขอบคุณเราทุกครั้งที่เจอ

บันทึกเรื่องราวและประสบการณ์โดย 

ไพรรินทร์  อินทรทรัพย์
ห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉิน
โรงพยาบาลพระพุทธบาท

วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การปกป้องทารกเกิดก่อนกำหนดจากภาวะแทรกซ้อนด้วยนมแม่


1.  ชื่อผลงาน : การปกป้องทารกเกิดก่อนกำหนดจากภาวะแทรกซ้อนด้วยนมแม่

2.  คำสำคัญ : นมแม่- จากการศึกษาประโยชน์และคุณค่าของนมแม่พบว่าเป็นปัจจัยปกป้องของอุบัติการณ์การเจ็บป่วยที่สำคัญ ที่มีผลต่อระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล ค่าใช้จ่าย อัตราการรอดชีวิต เนื่องจากนมแม่มีสารอาหารสำคัญจำเป็นและมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต ลด การเกิดภาวะลำไส้เน่า เพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย โดยเฉพาะในทารกเกิดก่อนกำหนดนมแม่เป็นสารอาหารที่เหมาะสมที่สุด ในระยะแรกหลังคลอดเป็นอาหารที่ทารกรับและย่อยได้ง่ายจึงสามารถให้สารอาหารทางลำไส้ได้ดีลดสารละลายทางเส้นเลือดได้เร็วลดอุบัติการณ์ของการติดเชื้อในกระแสเลือด การเกิดลำไส้อักเสบเปื่อยยุ่ยนอกจากนี้ยังค้นพบจากงานวิจัยอีกว่านมแม่ช่วยลดโรคจอประสาทตาเนื่องจากในนมแม่มีสารทอรีนที่ช่วยให้จอประสาทตาเจริญเติบโตและยังมีสิ่งที่นมผสมไม่สามารถสังเคราะห์ลงไปได้คือสารกระตุ้นจอประสาทตาที่มีอยู่ในน้ำนมแม่เท่านั้นจึงถือว่าในน้ำนมแม่มีสารอาหารที่วิเศษมากและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังกระตุ้นให้เกิดความผูกพันทางจิตใจระหว่างแม่และลูกได้ดีที่สุดและยังกระตุ้นให้แม่เกิดความเป็นแม่มากขึ้น
          :  ทารกเกิดก่อนกำหนด-เป็นทารกที่ยังไม่มีความพร้อมในการเจริญเติบโตอวัยวะต่างๆยังทำงานไม่สมบูรณ์มีอุบัติการณ์ของการเกิดการเจ็บป่วยค่อนข้างสูงซึ่งมีผลต่อระยะเวลาของ การอยู่ในโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายและอัตราการรอดชีวิต

3.  สรุปผลงานสำคัญ : ระยะดำเนินงานเมษายน - กันยายน 2553
ในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมามีจำนวนทารกเกิดก่อนกำหนด 6 ราย อายุครรภ์อยู่ในช่วง 31-35 สัปดาห์น้ำหนักแรกเกิด 1500-1900 กรัม ได้รับนมมารดาตั้งแต่เริ่มนมมื้อแรก 5 รายและได้รับอย่างต่อเนื่องจนพ้นภาวะวิกฤติและเมื่อทารกพร้อมมารดามานอนเลี้ยงให้ breast feeding
ได้สำเร็จทุกราย
            ขณะนอนในโรงพยาบาลทารกทุกรายไม่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดไม่มีภาวะUGI Bleed สามารรับนมได้ดีเจริญเติบโตภายใต้มาตรฐานการพยาบาลร่วมกับการรักษาของแพทย์และเมื่อมีการติดตามการตรวจ ROP พบว่าไม่มีทารกรายใด ตรวจพบภาวะ ROP
            นอกจากนี้ยังมีการติดตามเยี่ยมบ้านเพื่อประเมินการเจริญเติบโตพัฒนาการการให้นมและที่สำคัญคือการให้กำลังใจกับครอบครัวให้มีแนวทางการดูแลบุตรที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจและ เป็นเยาวชนที่ดีในอนาคต 

4.  ทีมนำ : หออภิบาลทารกแรกเกิดเด็ก 2  โรงพยาบาลพระพุทธบาท   สระบุรี
1.  คุณเจียมจิตต์   เฉลิมชุติเดช
2.  คุณเสาวลักษ์   ใคร่ครวญ
3.  คุณยุพิน           มานุจำ

5.  สมาชิกทีม : เจ้าหน้าที่ตึกเด็ก 2 ทุกคน

6.  เป้าหมาย :
1.  ทารกเกิดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนัก1000-2000กรัม ได้รับนมมารดาตั้งแต่มื้อแรกที่เริ่ม feeding และอย่างต่อเนื่อง
2.  ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน NEC  late-on set sepsis  ภาวะ ROP และการกลับมารักษาซ้ำภายใน28วัน
3.  มารดามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและเลี้ยงดูบุตรด้วยนมมารดาและมีพันธะผูกพันทางจิตใจที่ดีต่อกัน
4.  ทารกเกิดก่อนกำหนดทุกรายเจริญเติบโตสมวัย
5.  อัตราในการนอนโรงพยาบาลและค่าใช้จ่ายในการรักษาลดลง

7.  ที่มาของปัญหา :
จากหลักฐานเชิงประจักษ์ พบว่า ทารกเกิดก่อนกำหนดมีอุบัติการณ์ของการเกิดการเจ็บป่วยค่อนข้างสูงซึ่งการเจ็บป่วยที่สำคัญที่มีผลต่อระยะเวลาของการอยู่ในโรงพยาบาล ค่าใช้จ่าย  และอัตราการรอดชีวิต ได้แก่ ลำไส้เน่าเฉพาะที่  late-on set sepsisและที่ตามมาคือภาวะ ROP ซึ่ง
การเจ็บป่วยเหล่านี้พบว่านมแม่เป็นปัจจัยปกป้องที่ดีร่วมกับการรักษาของแพทย์ภายใต้มาตรฐานการพยาบาลที่ดี
จากข้อมูลที่ผ่านมา ทารกเกิดก่อนกำหนดที่รักษาในโรงพยาบาลพระพุทธบาท  พบว่ามีค่าใช้จ่ายในการรักษา 70,000-200,000 บาท  ต่อรายและพบภาวะROP เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

8.  กิจกรรมการแก้ปัญหา :
จะเห็นได้ว่านมแม่เป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันทารกให้รอดพ้นจากภาวะแทรกซ้อนร่วมกับการดูแลของแพทย์-พยาบาลได้เป็นอย่างดี  แต่อย่างไรก็ตามการชักนำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งมองเห็นหรือตระหนักในคุณค่าเป็นสิ่งที่ท้าทายดังนั้นการให้ความรู้กับมารดาต้องใช้ทักษะและหัวใจในการทำงานเพื่อให้เข้าถึงความมุ่งหวังที่ดีของบุคคลากรที่มีต่อบุตรหลานและให้ความร่วมมือในการดูแลรักษาร่วมกัน
จากการดำเนินงานที่ผ่านมาบุคลากรในหน่วยงาน และมารดาให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีพร้อมที่จะมานอนดูแลบุตร แต่อย่างไรก็ตามปัญหาที่พบคือข้อจำกัดในหน่วยงานที่ยังไม่มีเตียงเพียงพอ ขณะนี้กำลังดัดแปลงและใช้ทรัพยากรในหน่วยงานให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยโดยไม่เพิ่มค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล

9.  การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น :
จากข้อมูลแลตัวชี้วัดที่ผ่านมาพบว่า เมื่อเดือน กันยายน 2552-มีนาคม 2553มีทารกเกิดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนัก 1000-2000 กรัม 15 ราย พบ ROP 5 ราย คิดเป็นร้อยละ 22.66 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงและพบว่ามีภาวะ UGI Bleed ร่วมด้วย นั่นหมายถึงการงดนมและให้สารน้ำใหม่อีกครั้ง
อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบอยู่แล้วว่าทารกเกิดก่อนกำหนดต้องการพลังงานในการเจริญเติบโตมากกว่าทารกทั่วไปซึ่งการดูแลที่ผ่านมาเราเน้นการให้นม premature formula เพื่อให้ทารกได้รับพลังงานเพียงพอและยังขาดความร่วมมือจากมารดาในบางราย
จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าทางเลือกในการใช้นมแม่นั้นคุ้มค่าและ
ได้ประโยชน์ต่อองค์กรและทารกอย่างเห็นได้ชัด ที่ผ่านมา
ROP ลดลง เท่ากับ 0 และไม่พบภาวะ UGI Bleed ไม่มีการกลับมารักษาซ้ำภายใน 28 วัน  นอกจากนี้ยังเพิ่มสายสัมพันธ์แม่-ลูก ได้เป็นอย่างดี  ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาลดลงอยู่ระหว่าง 30,000-75,000 บาทต่อราย

10.  บทเรียนที่ได้รับ :
จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาพบว่าการนำหลักการ ทักษะวิชาการและ
ความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมา ถอดความรู้ทั้ง
 Explicit Knowledge และ Tacit Knowledge จะประสบผลสำเร็จในการทำงานได้นั้นต้องเข้าใจและเข้าถึงหัวใจของความป็นมนุษย์และเข้าใจวิถีชีวิต  และวัฒนธรรมชุมชน

11.  การติดต่อกับทีมงาน : หออภิบาลทารกแรกเกิดเด็ก 2  โรงพยาบาลพระพุทธบาท   สระบุรี
1.  คุณเจียมจิตต์   เฉลิมชุติเดช
2.  คุณเสาวลักษ์   ใคร่ครวญ
3.  คุณยุพิน         มานุจำ