ขึ้นเวรดึกวันนี้ รู้สึกเหนื่อยล้า
ตั้งแต่ยังไม่ได้ทำงาน บอกกับตัวเองทุกวัน สิ่งที่ทำคือ
หน้าที่ หน้าที่ และหน้าที่ แต่ก็ยังไม่เห็นหายเหนื่อย…รับเวรเสร็จ
เดินดูคนไข้ ตั้งแต่เตียง 1 จนมาถึงห้องแยก
1 เป็น Case คนไข้ผู้ชายสูงอายุวาระสุดท้ายซึ่งป่วยเป็นโรคหัวใจและอัมพาต ไม่รู้สึกตัวนอนอยู่บนเตียงที่มีเครื่องพันธนาการยื้อและยืดชีวิตมากมาย มียาเพิ่มความดันโลหิตให้ไว้ปริมาณขนาดสูงสุด
มาถูกทางแล้ว เป็นคำพูดของคุณหมอที่เราคุ้นหู
เงยหน้ามองไปที่ Monitor EKG หัวใจของคนไข้คงล้าเต็มที แม้จะมียาขนานเอกพอที่จะยืดเวลาออกไปได้อีก ความทรงจำเก่า ๆ ผุดขึ้นมา ภาพที่พ่อเคยนอนอยู่บนเตียง
ไม่แตกต่างจากคนไข้รายนี้ สุดท้ายคนเราทุกคนก็ย่อมเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่สามารถที่จะฝืนธรรมชาติ
เข้ามาในห้องนี้ทีไร แล้วต้องเจอคนไข้วาระสุดท้าย รู้สึกหดหู่ชอบกล ยิ่งตอนญาติร้องไห้ ใจคอไม่ดี พาลจะร้องไห้ตามญาติไปอีกคน คิดในใจ “ ตาคงไม่เสียวันนี้หรอกมั้ง ”
ฉันถอนหายใจแล้วพยายามสลัดความคิดเก่าๆ
ออกไป เดินเข้าไปยืนข้างเตียงจับมือคนไข้ เรียก “ ตา เป็นอย่างไรบ้าง...เหนื่อยไหม อดทนหน่อยนะ
กำหนดลมหายใจเข้าออก พระอยู่ในใจนะตา นึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณงามความดี ที่เคยได้ทำ จะได้เป็นแสงสว่างนำทางไปในภพชาติที่ดี”
เวลาผ่านไปอีกหลายชั่วโมง มองดูนาฬิกา 04.40 น. หลังทำกิจกรรมอื่นๆเสร็จ ลุกไปดูคนไข้อีกรอบ ประเมินสัญญาณชีพ หัวใจเต้นช้าลงกว่าเดิม
ความดันโลหิตวัดไม่ได้ ติดต่อประชาสัมพันธ์ให้ติดต่อญาติทางโทรศัพท์
ไม่นานเสียงโทรศัพท์สายนอกดังขึ้น
ฉันรีบรับโทรศัพท์ “ สวัสดีค่ะICU 1 ค่ะ ”
เสียงประชาสัมพันธ์งัวเงียเล็กน้อย “ติดต่อญาติได้แล้วค่ะ”
หลังจากประชาสัมพันธ์วางสายลง ได้ยินเสียงจากปลายสาย
พูดเสียงเครือว่า “คุณพ่อเสียชีวิตแล้วเหรอคะ”
ฉันจึงตอบว่า “ยังค่ะ โทรแจ้งญาติว่าตอนนี้ตาหัวใจเต้นช้าลง ความดันโลหิตวัดไม่ได้
มีโอกาสเสียชีวิต
ญาติต้องการมาเยี่ยมตาหรือเปล่าค่ะ”
เสียงญาติรีบตอบกลับมา “ พยาบาลให้เข้าเยี่ยมได้จริงเหรอคะ
”
ฉันตอบกลับไปว่า “ได้ค่ะ”
จากน้ำเสียงของญาติแสดงออกถึงความรู้สึกดีใจ
“ค่ะๆ
แล้วจะรีบมา”
เพียงไม่ถึง 20 นาที
เสียงกดกริ่งหน้าตึกก็ดังขึ้น ฉันเดินไปเปิดกระจกพบญาติประมาณ 3 คน สิ่งที่สังเกตเห็น คือผู้หญิงวัยสูงอายุกับผู้หญิงวัยกลางคน 2 คนยืนประคองกันอยู่ ผู้หญิงสูงอายุท่าทางไม่ค่อยแข็งแรง ตา 2 ข้าง ดูแดงช้ำ เหมือนพึ่งผ่านการร้องไห้มาอย่างหนัก
เมื่อญาติถึงเตียงคนไข้ ญาติถึงกลับปล่อยโฮ กอดคนไข้แน่นและพูดว่า “ คิดว่าจะไม่มีโอกาสได้ดูใจคุณพ่อเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว” และร้องไห้กันเสียงระงมทั่วห้อง ฉันเปิดโอกาสให้ญาติและคนไข้ได้อยู่กันตามลำพัง ปิดม่านให้ เสียง Monitor EKG alarm เป็นช่วงๆ ดู wave ห่างขึ้นเรื่อย คิดในใจตาคงจะรอญาติ
เมื่อญาติถึงเตียงคนไข้ ญาติถึงกลับปล่อยโฮ กอดคนไข้แน่นและพูดว่า “ คิดว่าจะไม่มีโอกาสได้ดูใจคุณพ่อเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว” และร้องไห้กันเสียงระงมทั่วห้อง ฉันเปิดโอกาสให้ญาติและคนไข้ได้อยู่กันตามลำพัง ปิดม่านให้ เสียง Monitor EKG alarm เป็นช่วงๆ ดู wave ห่างขึ้นเรื่อย คิดในใจตาคงจะรอญาติ
สักครู่ใหญ่ฉันเดินกลับเข้าไปในห้องคนไข้
แจ้งอาการกับญาติ “ ตอนนี้หัวใจเต้นช้าลงเรื่อยๆ ความดันโลหิตวัดไม่ได้ ”
ญาติพยักหน้ารับทราบ คราวนี้สีหน้าดู
สดชื่นขึ้น แม้ยังมีคราบน้ำตาทั่วใบหน้า
ลูกสาวของตาเดินมาหาและจับมือเราแน่น “ขอบคุณพยาบาลมากนะคะ
พี่คิดว่าพี่คงไม่มีโอกาสได้กอดคุณพ่อเป็นครั้งสุดท้าย”
พูดยังไม่ทันจบ น้ำตาก็ไหลอาบแก้ม 2 ข้าง กอดเราแน่น และพูดซ้ำ ๆ “ขอบคุณจริง ๆ เราเข้าใจว่าญาติจะไม่มีโอกาสได้เข้ามาดูใจในวาระสุดท้าย คงจะได้รับโทรศัพท์แจ้งตอนเสียชีวิตครั้งเดียว ตายตอนไหนก็ไม่รู้ กลับถึงบ้านร้องไห้ทุกวัน พี่ทำใจไม่ได้สงสารคุณพ่อ”
ฉันจึงชี้แจงว่า “ปกติ
ถ้าคนไข้อาการไม่ดี เราจะให้ญาติเข้ามาเยี่ยมได้ หรือแนะนำให้โทรศัพท์ถามอาการ ถ้าคนไข้มีอาการเปลี่ยนแปลงพยาบาลจะโทรศัพท์แจ้งเป็นระยะๆ
”
ลูกสาวคนไข้ค่อย ๆผละออกจากฉันพยักหน้ารับและพูดว่า
“ แต่...ตอนนี้ไม่ใช่อย่างที่คิดไว้เลย พี่ไม่รู้จะพูดคำว่าอะไร...”
ญาติเดินกลับมาเตียงคนไข้ กระซิบข้างหูเบาๆและบอกว่า “ไม่ต้องห่วงนะคุณพ่อ ลูกจะดูแลคุณแม่ให้ดีที่สุด คุณพ่อไปดีนะ
หลับให้สบาย ไม่ต้องกังวล”
ยังไม่ทันขาดคำ คลื่นหัวใจก็ลากเป็น Wave ยาว ฉันบอกญาติว่า
“คนไข้เสียชีวิตแล้วนะคะ”
ญาติพากันก้มกราบเท้าคนไข้ ได้ยินเสียงร้องไห้เบา ๆ ฉันแสดงความเสียใจและนำญาติยืนไว้อาลัยประมาณ 1
นาที
ญาติยิ้มทั้งน้ำตา ไม่มีใครร้องให้ฟูมฟาย
ญาติยิ้มทั้งน้ำตา ไม่มีใครร้องให้ฟูมฟาย
ฉันเดินออกมาด้านนอกม่าน มองดูนาฬิกาจะ 6 โมงเช้าแล้ว ไม่น่าเชื่อว่า
ความรู้สึกเหนื่อยล้าของฉันที่เกิดขึ้นก่อนขึ้นเวรดึก มันหายไปไม่รู้ตัว กลับกลายเป็นความรู้สึกดี ๆ
มีความสุข งานที่คิดว่าเป็นหน้าที่
แต่เมื่อมันอยู่ตรงหน้า ถ้าเราทำด้วยใจ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ความอิ่มอกอิ่มใจ หายเหนื่อย...
บันทึกเรื่องราวและประสบการณ์โดย
พัชรีรัตน์ เปลี่ยนสะอาด
หอผู้ป่วยหนัก
บรรณาธิการเรื่องเล่า โดย : กาญจนา สรรพคุณ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น