วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

พลังใจเสริม เพิ่มคุณภาพชิวิต พิชิตโรคถุงลมโป่งพอง

ปลายปี 2551 ห้องฉุกเฉินส่งผู้ป่วยวัย 63 ปี มาพบดิฉันโดยรถเข็น   เพื่อสอนวิธีการใช้ยาขยายหลอดลมชนิดพ่นสูด ดิฉันได้ทักทายสอบถามอาการของเธอ   จากการประเมินเธอยังพ่นยาไม่ถูกวิธี      จึงสอนและสาธิตให้เธอทดลองปฏิบัติหลายครั้ง  พร้อมทั้งให้กำลังใจจนเธอทำได้อย่างถูกต้อง     ดิฉันได้พูดเรื่องโรคคร่าว ๆ ให้เธอรับฟัง   ในขณะนั้นเธอยังมีสภาพที่ไม่พร้อมจะรับฟัง หลาย ๆ เรื่องในเวลาอันสั้น แต่ก็ได้แนะนำวิธีการเลิกบุหรี่กับเธอ

           ปี 2552 เดือนเมษายน  ดิฉันพบเธออีกครั้งที่ห้องให้คำปรึกษา เธอเดินเข้ามากอดดิฉัน แล้วพูดว่าเมื่อคืนฝันเห็นดีใจที่ได้เจอกันอีก เวลาหอบมาก ๆ ฝันเห็นทุกครั้ง เมื่อคืนเหนื่อยหอบมากทั้งคืน เช้านี้ถึงได้มาตรวจที่ห้องฉุกเฉิน   ดิฉันยืนงงอยู่ชั่วครู่หนึ่งจึงโอบกอดตอบ    ในการพบกันครั้งนี้สังเกตเห็นว่าเวลาพูดเธอมีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้น    จึงพูดให้กำลังใจจนเธอรู้สึกผ่อนคลาย  อาการเหนื่อยหอบลดลง  และให้คำแนะนำเพิ่มเติม เกี่ยวกับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่เป็นอยู่    สอนการบริหารปอด  การเลือกอาหารที่เหมาะกับอาการ   เทคนิคสงวนพลังงานในการใช้ชีวิตประจำวัน  จากการพูดคุยทำให้ทราบว่าเธอใช้ชีวิตอยู่กับสามีเพียงลำพังฐานะยากจน    เวลามาโรงพยาบาลแต่ละครั้ง เดินจากบ้านมาถึงถนนเป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลกว่า ๆ  อาการของเธออยู่ในระยะรุนแรงทำให้รู้สึกเห็นใจเธอมาก  จึงตั้งใจและเต็มใจที่จะทบทวนและเสริมพลัง สร้างแรงจูงใจให้มีพลังต่อสู้กับโรคที่เป็นอยู่    ได้เน้นความรู้ในการสังเกตอาการแรกเริ่มที่จะหอบ  การใช้ยาพ่นที่ถูกวิธีในตอนที่เริ่มมีอาการ   จะได้ไม่ต้องมาห้องฉุกเฉินบ่อย ๆ เพราะหนทางที่มาลำบากมาก   ครั้งนี้ดิฉันได้ปรับการใช้หลอดต่อที่ต่อกับยาพ่นสูดโดยเปลี่ยนเป็นชนิดแบบกระสวยเพื่อให้เหมาะสมกับอาการที่เป็นอยู่   พร้อมทั้งเน้นเรื่องเทคนิคในการเลิกบุหรี่ โดยให้เห็นคุณค่าของตัวเอง  ใช้ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านอุปสรรคมานับครั้งไม่ถ้วนและฝ่าฟันผ่านมาได้เป็นพลังกระตุ้น   ใช้คติเตือนใจว่าเราต้องทำได้เพื่อสร้างความเข้มแข็งของจิตใจตัวเอง     เธอพูดคุยชวนให้ไปที่บ้าน ดิฉันรับปากว่าจะหาโอกาสไปไห้ได้  เพราะว่าสิ่งแวดล้อมมีผลต่อภาวะโรคนี้เป็นอย่างมาก  
         
          คืนวันหนึ่งอากาศหนาวเย็นมาก   เธอเหนื่อยหอบทั้งคืน   เธอพ่นสูดยาขยายหลอดลมหลายครั้งแต่ไม่ดีขึ้นไม่รู้จะไปโรงพยาบาลอย่างไร     เหนื่อยจนลืมนึกถึงเบอร์ด่วนห้องฉุกเฉินที่ดิฉันเคยให้ไว้ รวมทั้งเบอร์มือถือที่ดิฉันเคยให้ไว้ก็หายไป จนเวลาสว่างจึงได้อาศัยรถข้างบ้านมาส่งที่โรงพยาบาลเธอบอกว่าตอนนั้นคิดว่าไม่รอดเสียแล้ว หอบมากจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจเข้า ICU รู้สึกกระวนกระวายสับสนมาก ต่อมาอาการทุเลาลงมาอยู่ที่หอผู้ป่วยสามัญ ดิฉันทราบข่าวของเธอจากสามีของเธอ    ดิฉันนำผลไม้เล็ก ๆ น้อย ๆ ติดมือไปเยี่ยม   เธอดูอิดโรยพูดก็มีอาการเหนื่อย   มีเสมหะเหนียวข้นจึงสอนเทคนิคในการขจัดเสมหะที่ถูกวิธี    พร้อมทั้งให้กำลังใจ  ดูแววตาสีหน้าเธอแจ่มใสขึ้น  ต่อมาเธอก็ได้กลับบ้านเมื่ออาการทุเลาลง

2 เดือนต่อมา ดิฉันได้พบเธออีกครั้งเมื่อเธอมาตรวจตามนัด   และเข้ามาพบดิฉันที่ห้องให้คำปรึกษา คราวนี้เธอดูไม่เหนื่อยหอบ เหมือนครั้งก่อนแล้ว ได้ทบทวนในรายละเอียดที่เคยให้คำแนะนำ พร้อมทั้งประเมินการพ่นยา เธอก็ปฏิบัติได้ถูกต้อง เธอได้กล่าวชวนให้ไปเที่ยวบ้านเธอ เธอบอกว่าบ้านเธอจนมาก  ดิฉันบอกกับเธอว่าอยากไปเที่ยวเหมือนกัน ไม่ต้องกลัวรังเกียจ เรื่องฐานะ   แล้วเราก็นัดกัน 

          เมื่อเธอกลับไปแล้ว ดิฉันประสานงานกับสถานีอนามัยที่ใกล้บานของผู้ป่วย เพื่อประสานความร่วมมือในการดูแลผู้ป่วย  ในเดือนสิงหาคม 2552 ดิฉันและทีมได้ไปเยี่ยมบ้านของเธอ  ซึ่งเป็นกระท่อมเล็ก ๆ  สร้างจากวัสดุที่หาได้ในละแวกนั้น   ที่พบก่อนคืออุปกรณ์ทำครัววางด้านนอกหน้าบ้าน  ด้านข้างบ้านกั้นสังกะสีเป็นที่อาบน้ำ  การปลดทุกข์ต้องเข้าไปในป่าใกล้ ๆ    เมื่อเข้าไปในบ้าน   มีที่นอนวางบนผ้ายางปูกับพื้นดิน  มีมุ้งขาด ๆ ปะแล้วปะอีกกางครอบอยู่   เห็นโถส้วมวางคว่ำอยู่ด้านหลัง  เธอบอกว่าไม่มีเงินซื้อหิน ปูน ทราย  ทำให้ทีมงานรู้ในคราวนี้ว่าบ้านนี้ไม่มีส้วม ในครั้งนี้ไปแนะนำการจัดสิ่งแวดล้อมในที่พัก  และทบทวนการดูแลตนเองอย่างละเอียดอีกครั้ง   ครั้งนี้ได้ทราบความเป็นอยู่ของสามีที่สูบยาเส้นจัด  และได้รู้ว่าสามีและเธอทำอาชีพ เผาถ่าน หาหน่อไม้ เก็บผักขาย   อีกครั้งที่เน้นย้ำเรื่องให้เลิกสูบยาเส้น  สามีของเธอไม่ค่อยสนใจนัก 
          
           หลังจากนั้น  ดิฉันจึงกลับไปประสานกับสถานีอนามัยอีกครั้งเพื่อปรึกษาร่วมกัน ในการหาแนวทาง ช่วยเหลือเธอ ทางสถานีอนามัยจึงได้รับความอนุเคราะห์ ความเมตตา จากท่านเจ้าอาวาสวัดซับชะอมที่อยู่ในระหว่างการสร้างอุโบสถ  ท่านจึงบริจาคอุปกรณ์ก่อสร้าง หิน ปูน ทราย มาให้เธอในการก่อสร้างส้วม โดยเธอติดต่อให้บุตรชายที่เป็นยามที่ต่างจังหวัดมาก่อสร้างส้วมให้ เธอจึงได้ปลดทุกข์ได้อย่างถูกสุขลักษณะ เธอรู้สึกขอบคุณทุกคนที่ช่วยเหลือเธอ


ต่อมาได้ไปเยี่ยมบ้านเธออีก ขณะที่เยี่ยมเธอได้ยินเสียงระเบิดหินเป็นระยะ ๆ   เธอบอกว่าบางทีก็ระเบิดกลางวัน บางทีก็ระเบิดกลางคืนชินเสียแล้วถ้าไม่หอบก็จะนอนหลับได้    สักพักก็ได้กลิ่นเผาไหม้ยาเส้น นั่นเป็นกลิ่นจากที่สามีเธอจุดสูบ ดิฉันจึงโน้มน้าวชักจูงให้สามีเธอเลิกสูบยาเส้น   โดยตัวเธอเป็นสื่อกลาง และเป็นตัวอย่างที่ดีกับสามีเธอ เพราะเธอบอกว่าเธอเลิกสูบมาได้ 1 เดือนแล้ว วันที่เธอตัดสินใจเลิกสูบแน่นอนคือ วันที่ดิฉันและทีมงานไปเยี่ยมบ้าน ใช้ลูกอม อมแก้ความอยากประมาณ 1 อาทิตย์ ก็ได้ผลเธอดีใจที่ทำได้สำเร็จ เธอบอกว่า ทุกอย่างจะสำเร็จได้เมื่อใจมุ่งมั่น อดทน และตั้งใจจริง

          หลังจากนั้นดิฉันร่วมกับนักวิชาการสุขศึกษาของโรงพยาบาล พยาบาลด้านจิตเวช
ประจำแผนกเวชกรรมสังคมได้ประสานความร่วมมือกับสถานีอนามัยซับชะอม
ในโครงการเลิกบุหรี่  โดยจัดกลุ่มในชุมชน    เธอเป็นสมาชิกในกลุ่ม ที่เป็นแบบอย่าง
ในการเลิกสูบยาเส้น    ขณะนี้มีผู้ที่อยู่ในหมู่บ้านของเธอสามารถเลิกบุหรี่
เพิ่มขึ้นอีก 4 คน    เธอรู้สึกภูมิใจที่เธอสามารถเป็นประโยชน์กับผู้อื่นได้

         การเยี่ยมบ้านครั้งล่าสุด   ดูเธอสดชื่นแข็งแรง   เดินคล่องแคล่ว ทำงานบ้านได้ไม่หอบ เดินได้ไกล ปลูกผักสวนครัวไว้ขายได้ กินได้นอนหลับดี   เธอบอกว่า  "ไม่กลับไปสูบยาเส้นอีกแล้ว    เลิกได้เบาตัว   สมองโล่งสดชื่น เดิมตอนที่สูบอยู่หัวมึนตื้อไปหมด"    เธอบอกว่า  เมื่อเธอเหนื่อยเธอจะส่งกระแสจิตถึงดิฉันแล้วจะรู้สึกไม่ท้อ   เธอบอกว่าสงสัยในชาติที่แล้วคงจะทำบุญร่วมกันมา     ก่อนกลับเธอกระซิบข้างหูดิฉันว่า ถ้าตายอย่าลืมมาเผาฉันนะ ดิฉันพยักหน้าและกล่าวว่า  วันนั้นคงอีกนาน ถ้าปฏิบัติตัวดีอย่างนี้    ดิฉันและเธอได้สวมกอดกันก่อนจะลาจากกันด้วยความประทับใจ

          ดิฉันได้สัมผัสชีวิตของหญิงคนหนึ่งที่ เกิดในครอบครัวแตกแยก  ยากจน  มีอาชีพรับจ้างทั่วไป  ในวัย 63 ปี มีโรคเรื้อรังและยังต้องหาเลี้ยงชีพดูแลตัวเองและสามี    สิ่งที่ทำให้มีชีวิตอยู่มาจนถึงทุกวันนี้คือ  "ทุกอย่างจะสำเร็จได้เมื่อใจมุ่งมั่น อดทน และตั้งใจจริง"

          ระยะเวลาของการผจญกับโรคที่เป็นอยู่จะนานเพียงไหนไม่มีใครทราบ    แต่ปัจจุบันเธอพร้อมเสมอที่จะพบกับมัน   สมกับเป็นหญิงแกร่งคนหนึ่งที่ตั้งใจและมุ่งมั่น จนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  


                                      ผู้เล่า : นางรุ่งฤดี     พันธุ์ประเสริฐ      พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
                                                                               โรงพยาบาลพระพุทธบาทสระบุรี

1 ความคิดเห็น:

  1. ดีใจจังที่มีพยาบาลที่ทำงานด้วยใจแบบพี่คนสวย สู้ๆๆ น่ะค่ะ

    ตอบลบ