วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การพัฒนากระบวนการประสานข้อมูลยา โรงพยาบาลพระพุทธบาท

1.  ชื่อผลงาน :   การพัฒนากระบวนการประสานข้อมูลยา
2.  คำสำคัญ :    Medication Reconciliation
3.  สรุปผลงานโดยย่อ :    กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลพระพุทธบาทได้จัดให้มีระบบจัดการยาที่ผู้ป่วยนำมาจากบ้าน และระบบเภสัชกรสัมภาษณ์ผู้ป่วยรับใหม่ พร้อมทั้งให้คำแนะนำก่อนกลับบ้าน จากการดำเนินงานมาได้ประมาณ 2 ปี พบว่าสามารถค้นหาความคลาดเคลื่อนทางยา ปัญหาจากการใช้ยาของผู้ป่วยและให้คำปรึกษาการใช้ยาที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วยที่ข้างเตียง  แต่การดำเนินงานนี้ยังไม่ครอบคลุมถึงผู้ป่วยที่ไม่ได้นำยาต่อเนื่องใช้อยู่มาด้วย   จึงได้ปรับให้มีระบบประสานข้อมูลยา(Medication Reconciliation)ใหม่ให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ป่วยทั้งที่มียาและไม่มียามาและในจุดบริการทั้งรับใหม่และกลับบ้านมากขึ้น  พบว่าสามารถค้นหาปัญหาใหม่ๆและป้องกันความคลาดเคลื่อนทางยาได้
4. ชื่อและที่อยู่ขององค์กร กลุ่มงานเภสัชกรรม   โรงพยาบาลพระพุทธบาท
5.  สมาชิกทีม    คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด,   
กลุ่มงานเภสัชกรรม,  PCT ต่างๆ
6. เป้าหมาย 
พัฒนากระบวนการประสานข้อมูลยาที่ผู้ป่วยใช้อยู่ประจำเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างต่อเนื่องและถูกต้องปลอดภัย
7. ปัญหาและสาเหตุโดยย่อ :
Medication Reconciliation (การประสานข้อมูลยาเป็นกระบวนการที่จะให้ได้มาซึ่งข้อมูลรายการยา ขนาด ความถี่ วิธีใช้ ที่ผู้ป่วยใช้ที่บ้านก่อนเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลให้ได้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ในกรอบเวลาที่กำหนด รวมถึงยาที่ผู้ป่วยซื้อมารับประทานเอง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพร ยาที่เหมาะสมต่างๆ ที่ใช้อย่างต่อเนื่องหรือใช้เป็นครั้งคราวเพื่อบำบัดอาการ เพื่อนำรายการยานี้เป็นข้อมูลให้ผู้ป่วยได้รับยาที่เคยใช้อยู่อย่างต่อเนื่องในจุดที่ผู้ป่วยเข้ารับบริการในสถานพยาบาล จนกระทั่งกลับบ้าน
            จากกระบวนการเดิมในการประสานข้อมูลยาของผู้ป่วยจะเน้นเฉพาะการจัดการยาเดิมที่ผู้ป่วยนำมา  เมื่อพยาบาลรับมาจากผู้ป่วยหรือญาติแล้ว บางหอผู้ป่วยจะส่งให้แพทย์พิจารณาแล้วจึงส่งมาฝากที่ห้องจ่ายยาผู้ป่วยใน โดยที่เภสัชกรไม่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์การใช้ยาของผู้ป่วยก่อน  ยาของผู้ป่วยบางรายถูกส่งมาที่ห้องจ่ายยาโดยแพทย์ไม่ได้พิจารณายานั้น  ทำให้พบว่าผู้ป่วยบางรายไม่ได้รับการสั่งใช้ยาที่ใช้ต่อเนื่องอยู่
            จากความคลาดเคลื่อนทางยาและปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วยที่พบหลังจากที่กลุ่มงานเภสัชกรรมได้จัดให้มีระบบการทำงานของเภสัชกรประจำหอผู้ป่วยอายุรกรรม ทำหน้าที่สัมภาษณ์ผู้ป่วยรับใหม่ประจำวัน   พบว่า
-          ผู้ป่วยที่มานอนรับการรักษาในโรงพยาบาลและไม่ได้นำยาเดิมมาด้วยมีโอกาสที่จะไม่ได้รับการรักษาด้วยยาต่อเนื่องที่ตนใช้อยู่ หรือได้รับแต่ไม่ครบถ้วน ระบุขนาดและวิธีใช้ไม่ถูกต้อง
-          ผู้ป่วยที่มียาต่อเนื่องใช้อยู่ พบว่ามีการใช้ยาและเก็บรักษายา หรือความรู้เกี่ยวกับยาของตนยังไม่ถูกต้อง
-          ผู้ป่วยยังมีความเชื่อ พฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ยาชุด ยาลูกกลอน จนเกิดปัญหาจากยาที่ทำให้ต้องรับเข้ารักษาในโรงพยาบาล  เช่น เกิดเลือดออกในกระเพาะจากการใช้ยาชุดแก้ปวด
-          กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่มีหรือไม่ได้รับความรู้ในเรื่องการดูแลตนเองที่ถูกต้อง เมื่อกลับไปบ้านและเห็นว่าไม่มีอาการแสดงของโรค คิดว่าหายจากโรคแล้ว จึงไม่รับประทานยาต่อเนื่องและไม่มาตามนัดทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักต้องเข้ารับรักษาในโรงพยาบาลซ้ำอีกด้วยโรคเดิม
-          กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น COPD,Alcoholic Cirrhosis ถูกส่งเข้ารักษาซ้ำด้วยอาการเดิม เนื่องจาก
ไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องได้ บางรายไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง
-          ผู้ป่วยกลับบ้าน มียาเดิม แต่แพทย์สั่งให้อีก และห้องยาจัดให้ใหม่อีกโดยไม่ได้มีการทบทวนยาเดิมที่ฝากอยู่  ทำให้มียาตกค้างที่ห้องยา หรือมียากลับไปสะสมที่บ้านจำนวนมาก เช่น ยาพ่น, ยาระบบหัวใจและหลอดเลือด
-          ผู้ป่วยกลับบ้าน แพทย์เขียนยากลับบ้านสำหรับอาการที่มานอนโรงพยาบาลแต่ไม่ได้เขียนคำสั่งใช้ยาเดิมที่ใช้ต่อเนื่องอยู่
-          ผู้ป่วยกลับบ้านห้องยาไม่ได้ส่งยาเดิมคืนให้ ผู้ป่วยไม่ได้รับยาเดิมที่นำมากลับไปด้วย  ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาซ้ำฯลฯ
 8. การเปลี่ยนแปลง :                 1) สร้างกระบวนการใหม่โดยปรับจุดเน้นจากเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่นำยาเดิมมาด้วย  ขยายออก
ไปให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ป่วยที่มียาต่อเนื่องใช้อยู่ แต่ไม่ได้นำยามาด้วย


2) ประสานกับหน่วยเวชสารสนเทศ
             2.1  ออกแบบใบบันทึกการบริหารยาแก่ผู้ป่วยของพยาบาลจากเดิมซึ่งใช้ระบบคัดลอก เป็นระบบ
ที่พยาบาลสามารถเรียกพิมพ์รายการยาจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานอยู่
            2.2  ออกแบบใบรายการยาที่ผู้ป่วยได้รับจากโรงพยาบาลพระพุทธบาท (รายการยากลับบ้านพร้อมรายละเอียด)ให้พิมพ์ได้จากฐานข้อมูลในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานอยู่  เพื่อส่งมอบให้แก่ผู้ป่วยหรือญาติ
เมื่อเภสัชกรให้คำปรึกษาแนะนำการใช้ยาก่อนกลับบ้าน(
Discharge Counseling) และแนะนำให้ผู้ป่วยนำใบดังกล่าวติดตัวมาด้วยทุกครั้งเมื่อมารับการรักษาอีก หรือเมื่อไปเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลอื่นเพื่อจะได้
ทราบข้อมูลรายการยาที่ผู้ป่วยใช้อยู่
            3)  จัดให้มีเภสัชกรขึ้นสัมภาษณ์ผู้ป่วยรับใหม่บนหออายุรกรรมและDrug Discharge Counseling
ให้ครอบคลุมถึงวันหยุดราชการ
            4) จัดให้มีเภสัชกรรับผิดชอบสัมภาษณ์ผู้ป่วยรับใหม่ในหอผู้ป่วยอื่นๆเพิ่มขึ้นในตึกศัลยกรม,ประกันสังคม, หูตาคอจมูก,สงฆ์
            5) กำหนดเกณฑ์คัดกรองDrug Discharge Counseling
9. การวัดผลและผลของการเปลี่ยนแปลง :      
          มีการค้นพบความคลาดเคลื่อนทางยา Prescribing & Dispensing Errorเพิ่มขึ้นและป้องกัน Administration error โดยตัวผู้ป่วยเองได้
            1. Prescribing Error
            - ลักษณะอุบัติการณ์ความคลาดเคลื่อนในการสั่งจ่ายยา เดิมมักจะค้นพบเรื่อง ไม่ระบุจำนวน,ขนาดของยาที่ต้องการ ลายมืออ่านยากเขียนเหมือนมองคล้าย  แต่หลังจากมีระบบสัมภาษณ์ผู้ป่วยรับใหม่ในเรื่องการใช้ยาและระบบการประสานข้อมูลยา (Medication Reconcile)  ได้ค้นพบอุบัติการณ์ความคลาดเคลื่อนในการสั่งจ่ายยาในประเด็นที่ต่างไปจากเดิมเพิ่มขึ้น เช่น ณ จุดรับผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลมีการเขียน/ลอกรายการยาเดิมไม่ครบถ้วน (จาก OPD Card)  ลอกรายการยาที่ผู้ป่วยใช้ไม่ถูกต้อง  (ยาในซองไม่ตรงกับชื่อยาที่ซอง) กรณียาที่ได้รับจาก รพ.อื่น
            2. Dispensing Error
            ดักจับ/ค้นหาความคลาดเคลื่อนในการจ่ายยาได้ในขั้นตอนการทำ Medication Reconcile เมื่อผู้ป่วยจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล   ตัวอย่าง  เช่น ในผู้ป่วยกลับบ้านโรคเบาหวานรายหนึ่ง แพทย์ได้ปรับเปลี่ยนยาชนิดรับประทานเดิมของผู้ป่วยเป็นชนิดฉีดโดยใช้ชนิดปากกาฉีดอินสุลิน เนื่องจากผู้ป่วยเริ่มมีระบบการทำงานของไตไม่ดี   เภสัชกรได้ไปให้คำแนะนำผู้ป่วยเพื่อให้คำแนะนำที่แพทย์มีการปรับเปลี่ยนยาในการรักษา  และจากทบทวนคำสั่งยากลับบ้านพบว่าแพทย์สั่งยาให้ผู้ป่วย 1 เดือน แต่พบว่าห้องยาจ่ายอินสุลินให้ผู้ป่วย 10 หลอด (ใช้ได้ถึง 10 เดือน),คำสั่งการรักษาของแพทย์ให้ส่งผู้ป่วยรักษาต่อที่โรงพยาบาลชุมชนเดิม   ได้ประสานไปที่โรงพยาบาลชุมชนเดิมของผู้ป่วย พบว่าไม่มียาฉีดอินสุลินชนิดปากกาแบบเดียวกับที่กำลังจะจ่ายให้ผู้ป่วยไป  จึงประสานกับแพทย์  เพื่อเปลี่ยนเป็นชนิดเดียวกับที่โรงพยาบาลชุมชนเดิมของผู้ป่วย
      D/C Counselling   แพทย์ให้รับประทานยาเดิม  และปรับเปลี่ยนยาบางรายการ  ทบทวนความเข้าใจในการใช้ยาแก่ผู้ป่วย ผู้ป่วยพบว่ายา Aspent ที่เหลือมีไม่พอถึงวันนัดเดิม เภสัชกรตรวจสอบพบว่ามีไม่ครบถึงวันนัดเดิมจริง แต่หาสาเหตุไม่ได้ อย่างไรก็ตามได้ดำเนินการจัดจ่ายยาเพิ่มเติมให้ครบวันนัดเดิม
            D/C Counselling   ยาเดิม   พบว่ารายการยา / วิธีใช้ในOPD card ไม่ตรงกับฉลากยาเดิมที่ผู้ป่วยนำมา (เปรียบเทียบกับใบยาโรคเรื้อรังในวันที่ผู้ป่วยมารับยาก็พบว่าไม่ตรงกับใน OPD card)   เมื่อประสานกับแพทย์ ที่เขียน OPD card จึงพบว่ามีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นในขั้นตอน Prescription   ซึ่งเป็นโอกาสพัฒนาต่อไปในขั้นตอนการตรวจสอบใบยาโรคเรื้อรังที่พิมพ์ล่วงหน้ากับรายการที่แพทย์เขียนใน OPD card ในวันที่ผู้ป่วยมาตรวจตามนัด ก่อนนำไปสู่กระบวนการจัดยาที่ห้องจ่ายยาผู้ป่วยนอก
10. บทเรียนที่ได้รับ :
การมีระบบประสานข้อมูลยา(Medication Reconciliation)ที่ดีและเหนียวแน่น ณ จุดรอยต่อของการรักษา จะช่วยค้นหาและป้องกันการเกิดอุบัติการณ์ความคลาดเคลื่อนทางยาให้แก่ผู้ป่วย
            สิ่งที่น่าจะพัฒนาต่อ
            - จัดให้มีระบบDrug Discharge Counseling ที่เข้มแข็ง
            - ค้นหาความคลาดเคลื่อนทางยาที่อาจเกิดขึ้นในขั้นตอนย้ายหอผู้ป่วย
            - พัฒนากระบวนการมาตรฐานส่งต่อข้อมูลยาของผู้ป่วยเมื่อมีการย้ายหอ
11.  การติดต่อกับทีมงาน กลุ่มงานเภสัชกรรม  โรงพยาบาลพระพุทธบาท 036 266166  ต่อl  5121, 5141, 5142



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น