วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554

นวัตกรรมทางการพยาบาล ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ประยุกต์


ชื่อเรื่อง นวัตกรรมทางการพยาบาล ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ประยุกต์   (Innovation of Nursing: Applied Adult Diapers)

หน่วยงาน หอผู้ป่วยหนักโรงพยาบาลพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

ผู้รับผิดชอบ นางสำราญ   จันทร์พงษ์, นางสาวรักชนก  ศรีจันทร์สุข และนางสาวสุตศรา  ประสานทอง      

ที่มาของปัญหา: ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนัก มีข้อจำกัดในเรื่องการเคลื่อนไหว และส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องระดับความรู้สึกตัว ส่งผลต่อการดูแลความสะอาดร่างกาย โดยผู้ที่มีปัญหาการขับถ่ายจะต้องสวมใส่ผ้าอ้อมอนามัย (diapers หรือ pampers) ซึ่งเป็นสิ่งที่ญาติและผู้ป่วยต้องรับผิดชอบในการจัดหาเอง ในกรณีที่ญาติและผู้ป่วยไม่สามารถจัดหาได้ จะส่งผลต่อการทำความสะอาดที่ต้องยุ่งยากมากขึ้น นอกจากนี้ผ้าอ้อมอนามัยที่ใช้แล้วเป็นขยะติดเชื้อที่โรงพยาบาลต้องรับผิดชอบค่ากำจัดขยะ 8 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งในแต่ละเดือนโรงพยาบาลต้องจ่ายค่ากำจัดขยะติดเชื้อมากกว่า 40,000 บาท  

วัตถุประสงค์: สร้างนวัตกรรมผ้าอ้อมผู้ใหญ่ประยุกต์ขึ้น เพื่อลดขยะติดเชื้อจากการใช้ผ้าอ้อมอนามัยและประหยัดค่าใช้จ่ายของญาติ

การดำเนินงาน: ประสานกับห้องเย็บผ้าในการตัดเย็บผ้าอ้อมผู้ใหญ่ประยุกต์ นำมาทดลองใช้ ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ แจ้งญาติในการใช้ผ้าอ้อมอนามัย เมื่อญาติตกลงใช้ หรือผู้ป่วยยินยอมใช้จึงนำมาใช้ โดยวิธีการนำมาใช้ ให้ญาติซื้อแผ่นรองซับ (Blue pad) รองผ้าอ้อมประยุกต์ อีกชั้นเพื่อสะดวกในการทำความสะอาด  

ผลลัพธ์:
ระยะที่ 1 ทดลองใช้ 1 เดือน ได้น้ำหนักผ้าอ้อมผู้ใหญ่ประยุกต์นำมาคิดค่าซัก 1 ชิ้น/ครั้งราคา 1.50 บาท นำมาประเมินจุดคุ้มทุน และญาติผู้ป่วยพึงพอใจในการที่ จ่ายลดลงซื้อแต่แผ่นรองซับ
ระยะที่ 2 ปรับการออกแบบผ้าอ้อมผู้ใหญ่ประยุกต์ ตามที่ผู้ปฎิบัติแนะนำ ระยะที่ 3นำผ้าอ้อมผู้ใหญ่ประยุกต์จำนวน 16 ตัว นำมาใช้กับผู้ป่วย หอผู้ป่วยหนัก 2 เป็นเวลา 1 เดือน จากนั้นนำมาใช้กับผู้ป่วยหอผู้ป่วยหนัก 1 เป็นเวลา  1 เดือน โดยมีการเปรียบเทียบกันในเรื่องน้ำหนักขยะติดเชื้อในช่วงที่ใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ประยุกต์กับ pampers  โดยมีการชั่งน้ำหนักขยะติดเชื้อของหอผู้ป่วยหนัก 1 และ 2 เพื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยพบว่าค่าเฉลี่ยของขยะติดเชื้อลดลง
ระยะที่ 4 ดำเนินการวิจัย การเปรียบเทียบน้ำหนักขยะติดเชื้อระหว่างการใช้ผ้าอ้อมอนามัยกับผ้าอ้อมผู้ใหญ่ประยุกต์ ผลการศึกษาพบว่าน้ำหนักขยะติดเชื้อระหว่างกลุ่มใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ประยุกต์กับกลุ่มใช้ผ้าอ้อมอนามัยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .05  สำหรับความพึงพอใจของผู้ใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ประยุกต์ จากการสอบถามผู้ป่วย 4 ราย ผู้ป่วยพึงพอใจ (บางรายสื่อสารไม่ได้) และจากการสอบถามญาติ พบว่าญาติพึงพอใจทุกคนเพราะช่วยประหยัดเงินจากการซื้อผ้าอ้อมอนามัย สำหรับความพึงพอใจของพยาบาลในการใช้ผ้าอ้อมประยุกต์ส่วนใหญ่ตอบดีร้อยละ 69.57 รองลงมาดีมากร้อยละ 21.74 และพอใช้ร้อยละ 8.70


การนำไปใช้ในงานประจำ: นำผ้าอ้อมผู้ใหญ่ประยุกต์ ไปใช้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาระดับความรู้สึกตัวและการขับถ่าย ผู้ป่วยที่ผิวหนังแพ้ง่าย และผู้ป่วยที่ไม่ดิ้นไปมา และไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่ถ่ายเหลวเป็นน้ำเพราะมักจะล้นแผ่นรองซับ นอกจากนี้ได้นำไปเผยแพร่แก่หอผู้ป่วยอื่น ๆ ทั้งโรงพยาบาล และมีญาติติดต่อซื้อกลับไปใช้ที่บ้านหลายราย

บทเรียนที่ได้รับ: การดูแลผู้ป่วย ไม่เพียงเฉพาะร่างกายผู้ป่วยเท่านั้นแต่ยังต้องคำนึงถึงภาระของครอบครัวด้วย นอกจากนี้ การสร้างนวัตกรรมก็ต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย

การติดต่อทีมงาน: นางสำราญ  จันทร์พงษ์ หอผู้ป่วยหนักโรงพยาบาลพระพุทธบาท อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี 18130 โทรศัพท์มือถือ 086-5236798 e-mail : petch_j@yahoo.com

2 ความคิดเห็น: