วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2561

การส่งเสริมความรู้และฝึกทักษะจัดการตนเองต่อคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพและการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการกำเริบเฉียบพลันของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

ผลของการส่งเสริมความรู้และฝึกทักษะจัดการตนเองต่อคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพและการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการกำเริบเฉียบพลันของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

 บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพก่อนและหลังได้รับการส่งเสริมความรู้และฝึกทักษะการจัดการตนเอง และเพื่อติดตามการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการกำเริบเฉียบพลันของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

วิธีการศึกษา  การวิจัยจากงานประจำนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบกลุ่มเดียววัดผลก่อน-หลัง กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจำนวน 30 ราย ที่มารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลพระพุทธบาทระหว่างเดือนมกราคม2558 ถึง เดือนพฤศจิกายน 2559 ได้รับการเลือกแบบเจาะจงตามเกณฑ์ว่าเคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลภายใน 1 ปี ย้อนหลังอย่างน้อย 1 ครั้งก่อนเข้าร่วมวิจัย การจัดกระทำ คือ การส่งเสริมความรู้และฝึกทักษะการจัดการตนเองที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นตามแนวคิดการจัดการตนเองของเครียร์ (Creer, 2000) ประกอบด้วย การให้ความรู้และฝึกทักษะการจัดการตนเองให้กับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลหรือเป็นรายคู่พร้อมญาติ ด้านการจัดการอาหารและน้ำดื่ม การป้องกันการกำเริบเฉียบพลัน การเลิกสูบบุหรี่ การใช้ (พ่น) ยาอย่างสม่ำเสมอและถูกต้อง การไออย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารการหายใจ การออกกำลังเพื่อการแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขนและขา การสงวนพลังงาน และวิธีการจัดการอารมณ์  ประกอบการสอนด้วยคู่มือการจัดการตนเองในวันนัดมาพบแพทย์สัปดาห์ที่ 2 หลังออกจากโรงพยาบาล และมีการติดตามเยี่ยมทางโทรศัพท์เพื่อส่งเสริมการจัดการตนเองในอีก 3 สัปดาห์ต่อมา ผู้วิจัยประเมินคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยจำนวน 2 ครั้ง คือ ก่อนและ 3 เดือนหลังจากได้รับการส่งเสริมความรู้และฝึกทักษะการจัดการตนเองโดยใช้ Medical Outcomes Study Short form (SF-36) ของ Ware and Gandek (2541) ฉบับแปลภาษาไทยโดยวัชรี  เลอมานุกุล และปารณีย์  มีแต้ม (2546) และปรับโดย โชติยา สังเสวก (2550) ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .92 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติบรรยายและสถิติทดสอบที ( Paired t – test )

ผลการวิจัย:  คะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังภายหลังได้รับการส่งเสริมความรู้และฝึกทักษะการจัดการตนเองสูงกว่าก่อนได้รับการส่งเสริมความรู้และฝึกทักษะการจัดการตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และพบการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการกำเริบเฉียบพลันของผู้ป่วย ภายในระยะเวลา 3 เดือนหลังจากได้รับการส่งเสริมความรู้และฝึกทักษะการจัดการตนเอง เท่ากับ ร้อยละ 6.6

สรุป:  การส่งเสริมความรู้และฝึกทักษะการจัดการตนเองสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพและช่วยส่งเสริมการลดลงของการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการกำเริบเฉียบพลันของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้

ข้อเสนอแนะ: พยาบาลควรประยุกต์ใช้การส่งเสริมความรู้และฝึกทักษะการจัดการตนเองกับผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการกำเริบเฉียบพลัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น