วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2561

แนวปฏิบัติการป้องกันการเกิดพลัดตกหกล้มในหอผู้ป่วยพิเศษ รพ.พระพุทธบาท

หลักการและเหตุผล

        
การป้องกันการพลัดตกหกล้ม (Fall) เป็นส่วนหนึ่งในเรื่องความปลอดภัย เป็นจุดเน้นที่สำคัญ
ในการดูแลผู้ป่วย ในหอผู้ป่วยพิเศษ 100 ปี ชั้น 4 และ 5 ส่วนใหญ่รับดูแลผู้ป่วยอายุรกรรม ซึ่งมีผู้ป่วยสูงอายุเป็นส่วนใหญ่ปีงบประมาณ 2558 มีอุบัติการณ์พลัดตกหกล้ม 2 รายเป็นระดับ F (Fall และmajor injury) 1 รายระดับ D (Fallไม่บาดเจ็บแต่ต้องเฝ้าระวัง) 1 ราย และในเดือนตุลาคม 2558 – เมษายน 2559 พบอุบัติการณ์ 5 ราย เป็นระดับ B (เกือบ Fall ) 1 รายระดับ C (Fall ไม่บาดเจ็บ) 1 ราย ระดับ E (Fall และ minor injury) 2 ราย ระดับ F 1 ราย วิเคราะห์สาเหตุพบว่า  ส่วนใหญ่เกิดจากการกลับมาจากเข้าห้องน้ำ คิดเป็นร้อยละ 57.14 (4 ราย) รองลงมาเป็นการจะลงเดินไปห้องน้ำ ร้อยละ 42.85 (3 ราย) จากการทบทวนอุบัติการณ์ ทางหอผู้ป่วยพิเศษ100ปี ชั้น 4 และ 5 ได้เล็งเห็นความสำคัญด้านความปลอดภัยของผู้ป่วยจึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดพลัดตกหกล้มซ้ำในหอผู้ป่วย

วัตถุประสงค์

1.เพื่อให้พยาบาลปฏิบัติตามแนวทางการพลัดตกหกล้มได้ครอบคลุมมากขึ้น
2.เพื่อลดอุบัติการณ์การเกิดพลัดตกหกล้มระดับ C – E
3.อุบัติการณ์การเกิดพลัดตกหกล้มระดับ F – I เท่ากับ 0
 
วิธีดำเนินการ

1.จัดทำโครงการการป้องกันการเกิดพลัดตกหกล้มเสนอขออนุมัติต่อผู้บริหารโรงพยาบาล
2. ประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินการโครงการการป้องกันการเกิดพลัดตกหกล้มแก่บุคลากร
หอผู้ป่วยพิเศษ100ปี ชั้น 4 และ 5
3.  ประสานพัสดุเพื่อเตรียมจัดหาสติ๊กเกอร์สะท้อนแสงสำหรับติดบริเวณผนังจากเตียงมาถึงห้องน้ำและสวิตซ์ไฟหน้าห้องน้ำ และจัดซื้อนาฬิกาปลุก
 4.  จัดทำคู่มือแนวปฏิบัติการป้องกันพลัดตกหกล้มสำหรับหอผู้ป่วยพิเศษ100ปี ชั้น4 และ5

5.  ดำเนินการติดสติ๊กเกอร์สะท้อนแสงบริเวณผนังจากเตียงผู้ป่วยถึงหน้าห้องน้ำและที่สวิตซ์ไฟหน้าห้องน้ำ

6.  ชี้แจงให้บุคคลากรหอผู้ป่วยพิเศษ100ปี ชั้น4 และ5 ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติการป้องกันพลัดตกหกล้มโดย
-  ประเมินความเสี่ยงต่อการเกิด Fall ในกลุ่มผู้ป่วยที่กำหนดตามแนวทาง โดยใช้ Morse Fall Risk Assessmentเมื่อแรกรับ
-  ปฐมนิเทศผู้ป่วยแรกรับเกี่ยวกับสถานที่ในหอผู้ป่วยการดูแลผู้ป่วย โดยเน้นการป้องกันพลัดตกหกล้ม (แบบปฐมนิเทศผู้ป่วยแรกรับที่พัฒนาขึ้นใหม่จากความคิดเห็นร่วมของบุคลากรในหอผู้ป่วย)
-  ปฏิบัติตามแนวทางการพยาบาล  เพื่อป้องกัน Fall ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในหอผู้ป่วยพิเศษ100ปี ชั้น4 และ5 โดยผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง 0 – 50 บันทึกข้อมูลสัปดาห์ละครั้งวันอาทิตย์ ความเสี่ยง 51 ขึ้นไปบันทึกทุกวันเวรเช้าโดยทำเครื่องหมายดอกจันที่ Kardex ด้วยปากกาแดง ปฏิบัติตามแนวทางการดูแลการป้องกันการพลัดตกหกล้มทั่วไปและที่มีความเสี่ยงสูง  โดยส่งต่อข้อมูลระหว่างเวรการปฏิบัติที่ให้กับผู้ป่วย ผลการปฏิบัติในแต่ละเวร
-  แนะนำ/ฝึกทักษะ การดูแลให้กับญาติ/ผู้ดูแล  เช่น  การใช้นาฬิกาปลุกเพื่อปลุกญาติพาผู้ป่วยเข้าห้องน้ำ การใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน การปรับเตียง การใช้ไม้กั้นเตียง การดูแนวสติกเกอร์สะท้อนแสง การใช้ไฟหัวเตียง การเฝ้าระวังอาการจากยาที่ผู้ป่วยได้รับที่เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม
-  ประเมินซ้ำและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องตามระดับความเสี่ยง/เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง
-  ปฏิบัติตามแนวทางการดูแล เมื่อเกิดอุบัติการณ์ Fall การรายงานอุบัติการณ์แนวทางการช่วยเหลือ
7.  รวบรวมข้อมูล การเกิดอุบัติการณ์ Fall วิเคราะห์เหตุการณ์ การดำเนินงาน

ผลการดำเนินงาน
เดือนมิถุนายน 2559 -  มกราคม 2560 ที่หอผู้ป่วยพิเศษ 100 ปี ชั้น 4และ 5และเดือนกุมภาพันธ์ 2560 – พฤษภาคม 2560 ที่หอผู้ป่วยพิเศษ 100 ปี ชั้น 4
1. มีแนวปฏิบัติการป้องกันการพลัดตกหกล้มสำหรับผู้ป่วยห้องพิเศษ
2. ไม่มีอุบัติการณ์การเกิดพลัดตกหกล้มระดับ F – I
3. อุบัติการณ์การเกิดพลัดตกหกล้มระดับC – E ลดลง 


 การนำไปใช้ในงานประจำ

มีแนวปฏิบัติการป้องกันการพลัดตกหกล้มสำหรับผู้ป่วยห้องพิเศษ และสามารถนำไปปรับใช้กับ
หอผู้ป่วยสามัญได้
บทเรียนที่ได้รับ / ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

1.  ผู้บริหารโรงพยาบาลสนับสนุน
2.  บุคลากรให้ความร่วมมือ
3.  ผู้ป่วย/ญาติ/ผู้ดูแลเข้าใจเห็นความสำคัญในการปฏิบัติ
หมายเหตุ  ปัจจุบันผู้ดำเนินการเรื่องนี้ดูแลหอผู้ป่วยพิเศษ100ปี ชั้น 3 และ 4

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น