วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2561

การส่งเสริมความรู้และฝึกทักษะจัดการตนเองต่อคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพและการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการกำเริบเฉียบพลันของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

ผลของการส่งเสริมความรู้และฝึกทักษะจัดการตนเองต่อคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพและการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการกำเริบเฉียบพลันของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

 บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพก่อนและหลังได้รับการส่งเสริมความรู้และฝึกทักษะการจัดการตนเอง และเพื่อติดตามการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการกำเริบเฉียบพลันของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

วิธีการศึกษา  การวิจัยจากงานประจำนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบกลุ่มเดียววัดผลก่อน-หลัง กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจำนวน 30 ราย ที่มารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลพระพุทธบาทระหว่างเดือนมกราคม2558 ถึง เดือนพฤศจิกายน 2559 ได้รับการเลือกแบบเจาะจงตามเกณฑ์ว่าเคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลภายใน 1 ปี ย้อนหลังอย่างน้อย 1 ครั้งก่อนเข้าร่วมวิจัย การจัดกระทำ คือ การส่งเสริมความรู้และฝึกทักษะการจัดการตนเองที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นตามแนวคิดการจัดการตนเองของเครียร์ (Creer, 2000) ประกอบด้วย การให้ความรู้และฝึกทักษะการจัดการตนเองให้กับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลหรือเป็นรายคู่พร้อมญาติ ด้านการจัดการอาหารและน้ำดื่ม การป้องกันการกำเริบเฉียบพลัน การเลิกสูบบุหรี่ การใช้ (พ่น) ยาอย่างสม่ำเสมอและถูกต้อง การไออย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารการหายใจ การออกกำลังเพื่อการแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขนและขา การสงวนพลังงาน และวิธีการจัดการอารมณ์  ประกอบการสอนด้วยคู่มือการจัดการตนเองในวันนัดมาพบแพทย์สัปดาห์ที่ 2 หลังออกจากโรงพยาบาล และมีการติดตามเยี่ยมทางโทรศัพท์เพื่อส่งเสริมการจัดการตนเองในอีก 3 สัปดาห์ต่อมา ผู้วิจัยประเมินคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยจำนวน 2 ครั้ง คือ ก่อนและ 3 เดือนหลังจากได้รับการส่งเสริมความรู้และฝึกทักษะการจัดการตนเองโดยใช้ Medical Outcomes Study Short form (SF-36) ของ Ware and Gandek (2541) ฉบับแปลภาษาไทยโดยวัชรี  เลอมานุกุล และปารณีย์  มีแต้ม (2546) และปรับโดย โชติยา สังเสวก (2550) ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .92 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติบรรยายและสถิติทดสอบที ( Paired t – test )

ผลการวิจัย:  คะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังภายหลังได้รับการส่งเสริมความรู้และฝึกทักษะการจัดการตนเองสูงกว่าก่อนได้รับการส่งเสริมความรู้และฝึกทักษะการจัดการตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และพบการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการกำเริบเฉียบพลันของผู้ป่วย ภายในระยะเวลา 3 เดือนหลังจากได้รับการส่งเสริมความรู้และฝึกทักษะการจัดการตนเอง เท่ากับ ร้อยละ 6.6

สรุป:  การส่งเสริมความรู้และฝึกทักษะการจัดการตนเองสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพและช่วยส่งเสริมการลดลงของการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการกำเริบเฉียบพลันของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้

ข้อเสนอแนะ: พยาบาลควรประยุกต์ใช้การส่งเสริมความรู้และฝึกทักษะการจัดการตนเองกับผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการกำเริบเฉียบพลัน

การพัฒนาแบบบันทึกการเยี่ยมผู้ป่วยก่อนการระงับความรู้สึก

ความเป็นมาและเหตุผล

            เนื่องจากงานวิสัญญีวิทยามีการเยี่ยมผู้ป่วยก่อนการระงับความรู้สึก  จึงได้ทำแบบบันทึกการเยี่ยมผู้ป่วยก่อนการระงับความรู้สึกใช้เป็นเครื่องมือการสื่อสารระหว่างบุคลากรทางวิสัญญี เพื่อการดูแลผู้รับบริการได้ต่อเนื่อง  วางแผนการระงับความรู้สึก    เตรียมอุปกรณ์    ยาให้เหมาะสมกับสภาพผู้ป่วยแต่ละราย   ซึ่งพบว่าแบบบันทึกการเยี่ยมผู้ป่วยก่อนการระงับความรู้สึกเดิม ข้อมูลไม่ครบถ้วน จึงได้ พัฒนาแบบบันทึกการเยี่ยมผู้ป่วยก่อนการระงับความรู้สึกขึ้นใหม่เพื่อให้ได้ข้อมูลครบตามมาตรฐานวิสัญญี  ร่วมกับประเมินความพึงพอใจต่อแบบบันทึกเก่าและใหม่ของวิสัญญีพยาบาลวัตถุประสงค์
1. พัฒนาแบบบันทึกให้ได้ข้อมูลครบถ้วน  เพื่อเตรียมยา  อุปกรณ์เหมาะสมกับผู้ป่วย  ให้ยาระงับความรู้สึกอย่างมีประสิทธิภาพ
2. เปรียบเทียบความพึงพอใจต่อแบบบันทึกการเยี่ยมผู้ป่วยก่อนการระงับความรู้สึกเก่าและใหม่ของพยาบาลวิสัญญี

วิธีการดำเนินงาน

1. ประชุมชี้แจงบุคลากรในหน่วยงาน  เพื่อวิเคราะห์ปัญหา  ปรับปรุงแบบบันทึกการเยี่ยมผู้ป่วยก่อนการระงับความรู้สึก
2. พัฒนาแบบบันทึกการเยี่ยมผู้ป่วยก่อนการระงับความรู้สึก
3. เปรียบเทียบความพึงพอใจแบบบันทึกเก่าและใหม่ของพยาบาลวิสัญญีโดยใช้แบบสอบถาม

วิธีการศึกษา

1. ระดมความเห็นของกลุ่มวิเคราะห์ปัญหาแบบบันทึกการเยี่ยมผู้ป่วยก่อนการระงับความรู้สึกที่ใช้ในปัจจุบันมาพัฒนาแบบบันทึกการเยี่ยมผู้ป่วยก่อนการระงับความรู้สึก
2. ประชุมชี้แจงแก่วิสัญญีแพทย์   พยาบาลวิสัญญี  เรื่องการใช้แบบบันทึกใหม่ให้เข้าใจถูกต้อง  ตรงกัน  และนำไปใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค.2559  -  1 มี.ค.2560 เก็บรวบรวมปัญหาจากการใช้งานจริง
3. ประเมินผลแบบบันทึก  ระดมความคิดเห็น  วิเคราะห์ปัญหา  แก้ไข ปรับปรุง  ให้มีความสมบูรณ์   ทุกขั้นตอน  ตามมาตรฐานการบริการและบันทึกทางวิสัญญี
4. เปรียบเทียบความพึงพอใจต่อแบบบันทึกการเยี่ยมผู้ป่วยก่อนการระงับความรู้สึกเก่าและใหม่  โดยตอบแบบสอบถาม

ผลการดำเนินงาน
1. พัฒนาแบบบันทึกการเยี่ยมผู้ป่วยก่อนการระงับความรู้สึก

2. คะแนนความพึงพอใจแบบบันทึกใหม่  95% แบบบันทึกเก่า 89%

บทเรียนที่ได้รับ/ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
1. บรรลุเป้าหมายในการได้แบบบันทึกวิสัญญีที่มีความสมบูรณ์ สามารถบันทึกกิจกรรมทางวิสัญญีครบทุกขั้นตอน  อิงตามมาตรฐานการบริการและการบันทึกทางวิสัญญี    ซึ่งเป็นการระดมความคิดเห็นของกลุ่ม
2. บุคลากรวิสัญญีพึงพอใจสูงสุด

แนวปฏิบัติการป้องกันการเกิดพลัดตกหกล้มในหอผู้ป่วยพิเศษ รพ.พระพุทธบาท

หลักการและเหตุผล

        
การป้องกันการพลัดตกหกล้ม (Fall) เป็นส่วนหนึ่งในเรื่องความปลอดภัย เป็นจุดเน้นที่สำคัญ
ในการดูแลผู้ป่วย ในหอผู้ป่วยพิเศษ 100 ปี ชั้น 4 และ 5 ส่วนใหญ่รับดูแลผู้ป่วยอายุรกรรม ซึ่งมีผู้ป่วยสูงอายุเป็นส่วนใหญ่ปีงบประมาณ 2558 มีอุบัติการณ์พลัดตกหกล้ม 2 รายเป็นระดับ F (Fall และmajor injury) 1 รายระดับ D (Fallไม่บาดเจ็บแต่ต้องเฝ้าระวัง) 1 ราย และในเดือนตุลาคม 2558 – เมษายน 2559 พบอุบัติการณ์ 5 ราย เป็นระดับ B (เกือบ Fall ) 1 รายระดับ C (Fall ไม่บาดเจ็บ) 1 ราย ระดับ E (Fall และ minor injury) 2 ราย ระดับ F 1 ราย วิเคราะห์สาเหตุพบว่า  ส่วนใหญ่เกิดจากการกลับมาจากเข้าห้องน้ำ คิดเป็นร้อยละ 57.14 (4 ราย) รองลงมาเป็นการจะลงเดินไปห้องน้ำ ร้อยละ 42.85 (3 ราย) จากการทบทวนอุบัติการณ์ ทางหอผู้ป่วยพิเศษ100ปี ชั้น 4 และ 5 ได้เล็งเห็นความสำคัญด้านความปลอดภัยของผู้ป่วยจึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดพลัดตกหกล้มซ้ำในหอผู้ป่วย

วัตถุประสงค์

1.เพื่อให้พยาบาลปฏิบัติตามแนวทางการพลัดตกหกล้มได้ครอบคลุมมากขึ้น
2.เพื่อลดอุบัติการณ์การเกิดพลัดตกหกล้มระดับ C – E
3.อุบัติการณ์การเกิดพลัดตกหกล้มระดับ F – I เท่ากับ 0
 
วิธีดำเนินการ

1.จัดทำโครงการการป้องกันการเกิดพลัดตกหกล้มเสนอขออนุมัติต่อผู้บริหารโรงพยาบาล
2. ประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินการโครงการการป้องกันการเกิดพลัดตกหกล้มแก่บุคลากร
หอผู้ป่วยพิเศษ100ปี ชั้น 4 และ 5
3.  ประสานพัสดุเพื่อเตรียมจัดหาสติ๊กเกอร์สะท้อนแสงสำหรับติดบริเวณผนังจากเตียงมาถึงห้องน้ำและสวิตซ์ไฟหน้าห้องน้ำ และจัดซื้อนาฬิกาปลุก
 4.  จัดทำคู่มือแนวปฏิบัติการป้องกันพลัดตกหกล้มสำหรับหอผู้ป่วยพิเศษ100ปี ชั้น4 และ5

5.  ดำเนินการติดสติ๊กเกอร์สะท้อนแสงบริเวณผนังจากเตียงผู้ป่วยถึงหน้าห้องน้ำและที่สวิตซ์ไฟหน้าห้องน้ำ

6.  ชี้แจงให้บุคคลากรหอผู้ป่วยพิเศษ100ปี ชั้น4 และ5 ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติการป้องกันพลัดตกหกล้มโดย
-  ประเมินความเสี่ยงต่อการเกิด Fall ในกลุ่มผู้ป่วยที่กำหนดตามแนวทาง โดยใช้ Morse Fall Risk Assessmentเมื่อแรกรับ
-  ปฐมนิเทศผู้ป่วยแรกรับเกี่ยวกับสถานที่ในหอผู้ป่วยการดูแลผู้ป่วย โดยเน้นการป้องกันพลัดตกหกล้ม (แบบปฐมนิเทศผู้ป่วยแรกรับที่พัฒนาขึ้นใหม่จากความคิดเห็นร่วมของบุคลากรในหอผู้ป่วย)
-  ปฏิบัติตามแนวทางการพยาบาล  เพื่อป้องกัน Fall ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในหอผู้ป่วยพิเศษ100ปี ชั้น4 และ5 โดยผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง 0 – 50 บันทึกข้อมูลสัปดาห์ละครั้งวันอาทิตย์ ความเสี่ยง 51 ขึ้นไปบันทึกทุกวันเวรเช้าโดยทำเครื่องหมายดอกจันที่ Kardex ด้วยปากกาแดง ปฏิบัติตามแนวทางการดูแลการป้องกันการพลัดตกหกล้มทั่วไปและที่มีความเสี่ยงสูง  โดยส่งต่อข้อมูลระหว่างเวรการปฏิบัติที่ให้กับผู้ป่วย ผลการปฏิบัติในแต่ละเวร
-  แนะนำ/ฝึกทักษะ การดูแลให้กับญาติ/ผู้ดูแล  เช่น  การใช้นาฬิกาปลุกเพื่อปลุกญาติพาผู้ป่วยเข้าห้องน้ำ การใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน การปรับเตียง การใช้ไม้กั้นเตียง การดูแนวสติกเกอร์สะท้อนแสง การใช้ไฟหัวเตียง การเฝ้าระวังอาการจากยาที่ผู้ป่วยได้รับที่เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม
-  ประเมินซ้ำและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องตามระดับความเสี่ยง/เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง
-  ปฏิบัติตามแนวทางการดูแล เมื่อเกิดอุบัติการณ์ Fall การรายงานอุบัติการณ์แนวทางการช่วยเหลือ
7.  รวบรวมข้อมูล การเกิดอุบัติการณ์ Fall วิเคราะห์เหตุการณ์ การดำเนินงาน

ผลการดำเนินงาน
เดือนมิถุนายน 2559 -  มกราคม 2560 ที่หอผู้ป่วยพิเศษ 100 ปี ชั้น 4และ 5และเดือนกุมภาพันธ์ 2560 – พฤษภาคม 2560 ที่หอผู้ป่วยพิเศษ 100 ปี ชั้น 4
1. มีแนวปฏิบัติการป้องกันการพลัดตกหกล้มสำหรับผู้ป่วยห้องพิเศษ
2. ไม่มีอุบัติการณ์การเกิดพลัดตกหกล้มระดับ F – I
3. อุบัติการณ์การเกิดพลัดตกหกล้มระดับC – E ลดลง 


 การนำไปใช้ในงานประจำ

มีแนวปฏิบัติการป้องกันการพลัดตกหกล้มสำหรับผู้ป่วยห้องพิเศษ และสามารถนำไปปรับใช้กับ
หอผู้ป่วยสามัญได้
บทเรียนที่ได้รับ / ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

1.  ผู้บริหารโรงพยาบาลสนับสนุน
2.  บุคลากรให้ความร่วมมือ
3.  ผู้ป่วย/ญาติ/ผู้ดูแลเข้าใจเห็นความสำคัญในการปฏิบัติ
หมายเหตุ  ปัจจุบันผู้ดำเนินการเรื่องนี้ดูแลหอผู้ป่วยพิเศษ100ปี ชั้น 3 และ 4

การพัฒนาระบบติดตามผู้ป่วยจิตเวช

การพัฒนาระบบติดตามผู้ป่วยจิตเวช

ที่มาและความสำคัญ

    ผู้มารับบริการ งานจิตเวชของโรงพยาบาลพระพุทธบาท ที่เป็นจิตเภท ปี  2558–2560
มีผู้ป่วย 283,  358 และ 419 ราย ตามลำดับ  เห็นได้ว่าผู้ป่วยจิตเภทมีแนวโน้มสูงขึ้น และจากการปฏิบัติงานพบว่ามีผู้ป่วยขาดนัด รับการรักษาไม่ต่อเนื่องมีอาการกำเริบ แสดงอาการก้าวร้าว หูแว่ว หวาดระแวง กลัวคนมาทำร้าย พกอาวุธ เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยของ ผู้ปฏิบัติงาน ผู้มารับบริการอีกทั้งครอบครัวก็เกิดความเครียด เบื่อหน่ายเป็นภาระเสียเวลาและรายได้เป็นต้น ในส่วนของชุมชนเกิดการตีตรา ไม่ยอมรับหวาดกลัวพฤติกรรมที่เคยก่อความรุนแรงในชุมชน (serious mental illness with high risk to violence: SMI-V)กลุ่มงานจิตเวชได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น จึงมีความสนใจพัฒนาระบบการติดตามให้ผู้ป่วยจิตเภทมารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

วัตถุประสงค์

1. เพื่อพัฒนาระบบการติดตามผู้ป่วยจิตเภทให้มารับการรักษาต่อเนื่อง
2. อัตราการขาดนัดไม่เกินร้อยละ 5

วิธีการดำเนินงาน

1. ทำการรวบรวมข้อมูล นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ ปัญหาและอุปสรรค ที่ทำให้ผู้ป่วยขาดนัด ไม่มารับการรักษาอย่างต่อเนื่องพบว่า
- ด้านบุคลากร: มีน้อย
- ด้านวัสดุ อุปกรณ์ ระบบ: ไม่มีระบบการติดตาม
- ด้านผู้ป่วยและญาติ: จากการเก็บสถิติการขาดนัดในปี 2559 พบอัตราการขาดนัด มารับการรักษาไม่ต่อเนื่องและอาการกำเริบ มีจำนวน 31 ราย (คิดเป็นร้อยละ8.65) ซึ่งเป้าหมายตามตัวชี้วัด อัตราการขาดนัดไม่เกินร้อยละ 5 และเมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการขาดนัด ไม่มารับการรักษาต่อเนื่อง พบว่าเกิดจากปฏิเสธการเจ็บป่วย 13 ราย (ร้อยละ41.93) ไม่มีญาติพามา 7 ราย (ร้อยละ22.58)
- มีพฤติกรรมการเสพ 4ราย (ร้อยละ12.90) อาการดีขึ้นแล้ว 6 ราย (ร้อยละ19.35 ) และย้ายที่อยู่ 1 (ร้อยละ3.22) นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยและญาติไม่เห็นความสำคัญของการนัดหมายมองข้ามในส่วนของเวลาที่สูญเสียไปและเพิ่มภาระงานในการค้นบัตรของกลุ่มงานเวชระเบียน การเตรียมใบยารีเมดของเภสัชกร และ งานการตรวจสอบสิทธิ์เป็นต้น
2. ประชุมร่วมกันวางแผนพัฒนาระบบการติดตามผู้ป่วยขาดนัด โดยมีองค์ประกอบ5 ด้านดังนี้
2.1 ข้อมูล (Data)
- ทำข้อมูลในส่วนของที่อยู่เบอร์โรศัพท์ของผู้ป่วยและญาติให้เป็นปัจจุบัน
- จัดทำทะเบียนผู้ป่วยจิตเภทรายใหม่และผู้ป่วยขาดนัดมีอาการกำเริบและมีพฤติกรรมที่ก่อความรุนแรงในชุมชน (SMI-V) สำหรับติดตามและประเมินผล
2.2 สนับสนุนการดูแลตนเอง (Self)สร้างความตระหนัก โดยการประเมิน ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค ยา การจัดการสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับภาวะสุขภาพ ส่งเสริมการประกอบอาชีพ การเฝ้าสังเกตอาการตนเอง การรับบริการจากสถานพยาบาลใกล้บ้าน เช่น การขอรับบริการฉีดยา
2.3 สนับสนุนมีส่วนร่วมของครอบครัว (Family) สร้างสัมพันธภาพประเมินบทบาทความสามารถในการดูแลผู้ป่วย ปัจจัยที่ทำให้อาการกำเริบ การยอมรับการเจ็บป่วย การดูแลตนเองของผู้ป่วย ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค ยา แผนการรักษา ทักษะในการสื่อสาร เพื่อพัฒนาศักยภาพความสามารถของผู้ดูแลในการดำเนินชีวิตประจำวันร่วมกับผู้ป่วย และการเข้าถึงเครือข่ายสาธารณะสุขและชุมชนขอสนับสนุนรถขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ในการมาโรงพยาบาล การส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลจิตเวช
2.4 ดำเนินงานร่วมกันกับเวชกรรมสังคม เครือข่ายสาธารณสุข วัดและชุมชน (Coordination)
-  มีการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชให้พื้นที่ที่รับผิดชอบรับทราบสถานการณ์และมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย
-  ติดตามเยี่ยมบ้านในรายที่มีความพฤติกรรมก่อความรุนแรงในชุมชน (serious
mental illness with high risk to violence: SMI-V)
-  ช่วยจัดส่งยาให้ผู้ป่วยขาดนัด
-  ได้รับความร่วมมือจากพระภิกษุสงฆ์ ในการกระตุ้นเตือนให้ผู้ป่วยจิตเวชมารับการรักษา
-  จับคู่บัดดี้ในการมาตรวจตามนัด เนื่องจากผู้ป่วยบางรายญาติลางานไม่ได้ ต้องดูแลผู้สูงอายุ
-  มีการ empowerment อาสาสมัครสาธารณสุข ให้มีความตระหนัก มั่นใจในศักยภาพของตนในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนเป็นพี่เลี้ยงให้กับครอบครัวในช่วงแรก จากนั้นพัฒนาให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถดูแลตนเองได้นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือในมารับยาให้ผู้ป่วยและพาผู้ป่วยมารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
-  ผู้ป่วยในเขตพื้นที่อำเภอบ้านหมอ หนองโดน วังม่วงและดอนพุด เมื่ออาการคงที่แล้วส่งต่อให้พื้นที่ดูแลผู้ป่วยต่อไป
2.5 สร้างความตระหนักและให้เห็นความสำคัญของการมาตรวจตามนัด(Aware)
-  มีการทำข้อตกลงร่วมกัน สร้างความตระหนัก ให้เห็นความสำคัญ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นของการมาตรวจตามนัดและเห็นผลกระทบในด้านอื่นๆที่เกิดขึ้นจากการ   ขาดนัด
3. นำไปใช้ในการปฏิบัติงาน
4. ประเมินผล
5. สรุปผลการดำเนินงาน

ผลการดำเนินงาน


หมายเหตุ  7 รายที่ขาดนัดนั้น พบว่ามีสาเหตุ ดังนี้
1. ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการเสพได้และหนีออกจากบ้าน ติดต่อไม่ได้ 2 ราย
2. มารดาซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบหลักในการดูแลผู้ป่วยเสียชีวิต อยู่ในช่วงค้นหา care giver
รายใหม่ให้ 1 ราย
3. ย้ายที่อยู่ 4 ราย

การนำไปใช้ในงานและการขยายผล

มีการนำไปใช้ในการเฝ้าระวังและติดตามผู้ป่วยอารมณ์สองขั้ว ซึมเศร้า และผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตจากการใช้สารเสพติด นอกจากนี้ยังใช้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆเพื่อให้ได้รับการดูแลต่อเนื่อง

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

1.การสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ป่วยและญาติ
2. สนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและญาติในการประเมินและแก้ไขปัญหา อุปสรรคต่างๆที่ทำให้ผู้ป่วยขาดนัด ไม่มารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
3. การค้นหา Care giver ที่สามารถให้การดูแล ป้องกันการกำเริบ ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
4. การทำงานร่วมกันของเครือข่าย อาทิ กลุ่มงานเวชกรรมสังคม ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เครือข่ายจิตเวชชุมชนของอำเภอต่างๆ

Save แรง Save เงิน ด้วย QR Code

Save แรง Save เงิน ด้วย QR Code
 
หลักการและเหตุผล

    
QR Code ย่อมาจาก Quick Response Code คือ บาร์โค้ด 2 มิติ สามารถอ่านได้ด้วยเครื่องสแกน    คิวอาร์ในโทรศัพท์มือถือที่มีกล้อง หรือสมาร์ตโฟน เพื่อถอดข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อความ เบอร์โทรศัพท์ URL      เพื่อเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ QR Code สามารถตอบสนองได้รวดเร็ว เนื่องจากเป็นรหัสที่มีการอ่านอย่างรวดเร็ว  และสามารถเก็บความจุได้มาก เป็นที่นิยมในทั่วโลก สามารถพบเห็นได้ทั่วไป จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันการเข้าถึงข้อมูลส่วนใหญ่ของโรงพยาบาล      พระพุทธบาท ยังเป็นรูปแบบเอกสาร ทำให้ไม่สะดวก ล่าช้า และสิ้นเปลืองงบประมาณในการจัดทำเอกสารกลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรบุคคล เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการนำ QR Code มาใช้ในการสำรวจข้อมูล    ซึ่งเป็นการสื่อสารอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว และช่วยลดลดต้นทุนในการทำเอกสาร ในการดำเนินงานต่างๆ เช่น แบบสำรวจเพื่อวินิจฉัยองค์กร และแบบประเมินผลโครงการฝึกอบรม เป็นต้น

วัตถุประสงค์

1. เพื่อลดการใช้ทรัพยากรในการจัดทำเอกสาร
2. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากรในการเข้าถึงข้อมูลและง่ายต่อการสืบค้น
3. เพื่อให้บุคลากรได้รู้ถึงการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย กระตุ้นให้เกิดความสนใจในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ

วิธีการดำเนินงาน

1.ขั้นตอนการสร้าง QR Code

 1.1  ไปที่เว็บไซต์ www.Google.com จากนั้นพิมพ์ข้อความในช่องค้นหา เช่น “สร้าง QR Code” แล้วกดค้นหา จะพบเว็บไซต์ให้บริการสร้าง QR Code ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง เว็บไซต์ http://tools.thaibizcenter.com/qrcode/
1.2 โดยเลือกคลิกแท็ปรูปแบบข้อมูลที่ต้องการแปลงเป็น QR Code คลิกตัวเลือก “Link” เพื่อแปลงชื่อเว็บไซต์ เช่น http://hospitaldiagnosis.ha.or.th/ จากนั้นเลือกขนาดของรูป และกรอกชื่อเว็บไซต์ในช่อง URL แล้วคลิก Get Code
1.3  ระบบจะแสดงผลรูป QR Code สำหรับให้ Copy หรือ Save รูปภาพ เพื่อนำไปใช้งาน
2. จัดทำเอกสารชี้แจงขอความร่วมมือในการตอบแบบสำรวจผ่านทาง QR Code

ผลการดำเนินงาน

            กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรบุคคล ได้นำ QR Code มาใช้ในการสำรวจข้อมูล การวินิจฉัยองค์กรและประเมินวัฒนธรรมความปลอดภัยของโรงพยาบาล ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ถึง พ.ศ.2560 พบว่า บุคลากรส่วนใหญ่สามารถใช้ QR Code ในการตอบแบบสอบถามได้เพิ่มขึ้นทุกปี

การนำไปใช้ในงานประจำ

กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรบุคคล ได้นำเทคโนโลยี QR Code มาประยุกต์ใช้ในการสำรวจข้อมูล         แบบประเมิน และงานวิจัย ทำให้ผู้ใช้งานมีความสะดวก และสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น เพราะ Smart Phone ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตประจำวันของคนในปัจจุบัน
 
ปัญหาและอุปสรรค

1. ประมาณร้อยละ 10 ของบุคลากร ไม่สะดวกในการใช้ QR Code ผ่านทาง Smart Phone
2. การตอบแบบสำรวจที่มีจำนวนมากผ่านทาง Smart Phone พบปัญหา เรื่อง ขนาดตัวอักษร

บทเรียนที่ได้รับ/ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

            จากความสะดวกในการตอบผ่าน QR Code ส่งผลให้ได้จำนวนข้อมูลเพิ่มขึ้น และลดข้อผิดพลาดจากการคีย์ข้อมูล และกลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรบุคคล คาดว่าจะนำมาประยุกต์ใช้ในการค้นหาเอกสารและข้อมูลในการฝึกอบรมต่อไป