วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

รถเข็นไฟฟ้า มาหานะเธอ



ชื่อผลงานนวัตกรรม       รถเข็นไฟฟ้า มาหานะเธอ
ชื่อผู้เสนอผลงาน           งานซ่อมบำรุง ฯ ไฟฟ้า – อิเล็กทรอนิกส์
ความเป็นมา
          สืบเนื่องจาก รพ. พระพุทธบาท มีปริมาณคนไข้ที่ Admit ที่มากขึ้นจึงทำให้มีการจัดการด้านโภชนาการที่สูงขึ้นไปด้วยในการแจกจ่ายอาหารผู้ป่วยแต่ละอาคาร  ซึ่งในการขนย้ายอาหารต้องใช้รถเข็นอาหารไปส่งแต่ละอาคารทางที่จะใช้ในการขนส่งอาหาร ส่วนใหญ่เป็นทางลาดขึ้นอาคาร ที่มีความชันมากในการเคลื่อนย้ายรถเข็นอาหารแต่ละครั้งต้องใช้ เจ้าหน้าที่โภชนาการ 2 – 3 คน ในการเคลื่อนย้ายขึ้นอาคารแต่ละครั้ง ซึ่งไม่สามารถเข็นขึ้นทางลาดที่มีความชันมากคนเดียวได้ ซึ่งอัตราการเข็นส่งอาหารขึ้นทางลาด 3-4 ครั้งต่อวัน จึงทำให้มีผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย ของเจ้าหน้าที่โภชนาการและสิ้นเปลืองเจ้าหน้าที่ในการขนย้ายรถเข็นอาหาร
          งานซ่อมบำรุง ไฟฟ้า – อิเล็กทรอนิกส์ ได้ไปศึกษาดูงานสิ่งประดิษฐ์รถเข็นไฟฟ้าที่โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี เพื่อนำมาต่อยอดประดิษฐ์คิดค้นและช่วยโรงพยาบาลประหยัดต้นทุนในการจัดซื้อรถเข็นไฟฟ้าในการใช้งาน

วัตถุประสงค์
          1. เพื่อลดความเสี่ยงทางด้านสุขภาพร่างกายของเจ้าหน้าที่โภชนาการในการทำงาน
          2. แบ่งเบาภาระงานของเจ้าหน้าที่โภชนาการ
          3. เพื่อเพิ่มพูนทักษะของทีมช่างงานซ่อมบำรุง ไฟฟ้า – อิเล็กทรอนิกส์
          4. เพื่อลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลในการจัดซื้อรถเข็นไฟฟ้า

การดำเนินงาน  
          ขั้นตอนการเตรียมอุปกรณ์ ( ต่อ 1 คัน )
            1.  สแตนเลสฉากขนาด  1 นิ้ว x 1 นิ้ว
            2.  สแตนเลสฉากขนาด  2 นิ้ว x 2 นิ้ว
            3.  สแตนเลสแบนขนาด 2 นิ้ว
            4.  ล้อขับขนาด  12 นิ้ว
            5.  ล้อเลี้ยวขนาด  8 นิ้ว
            6.  เพลาขับขนาด  1 นิ้ว 2 หุน
            7.  แบตเตอรี่ขนาด 12v 12A  2 ลูก
            8.  มอเตอร์  24 V
            9.  ชุดคอนโทรล   24 V
          วิธีการดำเนินงาน
            1.  ทำการตัดสแตนเลสให้พอดีกับรถเข็นอาหารแต่ละคัน ซึ่งแต่ละคันขนาดและสัดส่วนไม่เท่ากัน
            2.  ทำการเชื่อมสแตนแลสเข้ากับรูปแบบของตัวรถเข็นพร้อมประกอบฐานล้อขับและล้อเลี้ยว
            3.  จัดวางมอเตอร์เข้ากับชุดเพลาล้อขับเคลื่อน
            4.  ทำการประกอบตัวถังรถเข็นอาหารขึ้นบนแท่นขับเคลื่อน
            5.  ติดตั้งชุดคอนโทรลไฟฟ้าเข้ากับตัวถังรถเข็นอาหาร
            6.  ตรวจเช็คความเรียบร้อยและทดสอบการทำงานในการขับเคลื่อนพร้อมส่งมอบรถเข็นให้ฝ่าย
                โภชนาการนำไปใช้งานต่อไป






ผลลัพธ์  
          แบ่งเบาภาระงานของเจ้าหน้าที่โภชนาการได้มากขึ้นสามารถขนย้ายอาหารในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น โดยที่ออกแรงในการขนย้ายน้อยลงอีกทั้งยังสะดวกรวดเร็วในการแจกจ่ายอาหารไปแต่ละอาคาร ในส่วนการใช้งานของรถเข็นไฟฟ้าพาเพลินใช้งานง่าย สะดวก ชาร์จไฟฟ้า 1 ครั้ง สามารถใช้งานได้หลายชั่วโมงที่สำคัญต้นทุนการผลิตต่ำกว่าสั่งซื้อกับบริษัทเอกชนมาก
          ต้นทุนสิ่งประดิษฐ์    รถเข็นไฟฟ้า มาหานะเธอ ( ทีมช่างงานซ่อมบำรุงประดิษฐ์ได้  7  คัน )
            - ราคาสั่งซื้อบริษัท รถเข็นพร้อมระบบไฟฟ้า                          60,000  บาท / คัน
            - ราคาทีมช่างงานซ่อมบำรุง ไฟฟ้า – อิเล็กทรอนิกส์ ประดิษฐ์ขึ้น ( โดยใช้ตู้เดิม )                                 
               11,700  บาท / คัน
          ความพึงพอใจในการใช้งาน ของเจ้าหน้าที่โภชนาการ  รถเข็นไฟฟ้า มาหานะเธอ
            - ความพึงพอใจในการใช้   100%

การนำไปใช้งาน
          ใช้ในการจัดส่งอาหารให้ผู้ป่วยไปยังหอผู้ป่วยแต่ละอาคารของโรงพยาบาลพระพุทธบาท 



บทเรียนที่ได้รับ/ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
          เพิ่มทักษะในด้านวิชาชีพของช่างที่ปฏิบัติได้รู้ถึงการออกแบบดีไซน์งานโครงสร้าง  งานเชื่อมสแตนเลสและหลักการทำงานระบบควบคุมต่าง ๆ ในสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้น ทั้งยังมีการแบ่งหน้าที่ในการประกอบรถเข็นไฟฟ้าโดยทำให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นทีม (TEAM WORK ) ซึ่ง สอดคล้องกับค่านิยมของโรงพยาบาล  จึงได้ผลิตผลเป็นสิ่งประดิษฐ์นี้ออกมา
โอกาสพัฒนา
          ช่างงานซ่อมบำรุงมีแนวคิดต่อยอดในการประดิษฐ์รถเข็นไฟฟ้า จากเดิมใช้วิธีการลาก จูง มีการพัฒนาโดยให้ผู้ใช้สามารถยืนหรือนั่งบังคับได้โดยไม่ต้องลาก จูงหรือเดินตามซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่และยังสามารถนำไปใช้ในการขนย้ายสิ่งของในงานต่าง ๆ ได้