วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

หมอนคางหมู

ที่มาของปัญหา

        •  ผู้ป่วยที่มีได้รับบาดเจ็บบริเวณส่วนปลายขาหรือมีแผลบริเวณขา การดูแลควรให้ผู้ป่วยวางส่วนขา                ให้สูงกว่าระดับหัวใจ
     •  หอผู้ป่วยศัลยกรรม 3 ให้บริการผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ขา เดิมยกอวัยวะส่วนขาให้สูงโดยใช้หมอนรูป  สี่เหลี่ยมผืนผ้ารองขาแต่บริเวณต้นขาผู้ป่วยไม่มีส่วนรองรับ ต้องใช้ผ้าห่มสอดพยุงบริเวณใต้ต้นขา   ทำให้ผู้ป่วยเกิดความไม่สุขสบาย

วัตถุประสงค์
      
      •   เพื่อช่วยให้การไห ลเวียนโลหิตไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายได้สะดวกขึ้น ลดอาการบวมและปวด 
     •   เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับรับความสุขสบาย
     •   เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความพึงพอใจ

 วิธีดำเนินการ
    •   ออกแบบหมอนรองขาให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู โดยบริเวณที่เป็นรูปสามเหลี่ยมให้รองรับบริเวณใต้    ส่วนของต้นขา



  ผลการดำเนินงาน

       การนำหมอนคางหมูไปใช้ในการยกขาผู้ป่วยให้สูงขึ้น ทำให้การไหลเวียนโลหิตไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายได้สะดวกขึ้น ลดอาการบวมและปวด ผู้ป่วยได้รับรับความสุขสบายและเกิดความพึงพอใจโดยไม่ต้องขยับส่วนขาเพื่อให้ผ้าห่มที่สอดพยุงบริเวณใต้ต้นขาอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม


บทเรียนที่ได้รับ

       การพัฒนาการดูแลผู้ป่วยเราสามารถทำได้จากการสังเกตและเรียนรู้จากการทำงาน เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติได้รับการดูแลที่มีประสิทธิภาพเกิดความพึงพอใจในการดูแล ถือว่าเป็นการเพิ่มคุณค่าของงานที่ทำได้ แค่เปลี่ยนจากสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู ก็ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีขึ้นแล้ว

                                                                         
                                                                       โดย ทีมพยาบาลศัลยกรรม 3 
                                                                             รพ.พระพุทธบาท 

นาทีชีวิต พิชิตพิษงูเห่า

วันหนึ่งหลังจากหยุดพักผ่อนมาหลายวัน ฉันขึ้นปฏิบัติงานเวรบ่าย ซึ่งบางเวรก็ ยุ่งสุดๆเหมือนกัน ทั้งรับใหม่ รับย้ายและกลับบ้าน ต้องเตรียมตัวเตรียมใจเป็นอย่างดีก่อนมาทำงาน  เวรบ่ายวันนั้น ฉันได้รับมอบหมายเป็นตำแหน่ง Member ซึ่งทุกคนก็ต่างทำหน้าที่ในงานที่ได้รับมอบหมายอย่างตั้งอกตั้งใจ  บรรยากาศค่อนข้างเงียบ จำนวนผู้ป่วยไม่มาก ไม่น่าจะมีเหตุการณ์ตื่นเต้นเกิดขึ้น เวลาประมาณ 18.00 น. ก็มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นหัวหน้าเวรรับOK Admit ผู้ป่วยจาก OPD นอกเวลา 2 คน ทันทีที่วางโทรศัพท์ เสียงกริ๊งที่ 2 ก็ดังขึ้น ครั้งนี้รับย้ายผู้ป่วยหายใจเหนื่อยหอบจากตึกพิเศษ 1 คน และต่อมารับใหม่จาก ER 1คน บรรยากาศในWard คึกคักขึ้นทันที  พยาบาลและผู้ช่วยเหลือคนไข้ ต่างช่วยกันเคลื่อนย้ายเตียงผู้ป่วยเพื่อรับใหม่และรับย้าย อย่างค่อยข้างวุ่นวายแข่งกับเวลา เพื่อเตียงจะได้พร้อมรับเมื่อผู้ป่วยมาถึงตึก  โดยจัดเตรียมเตียง 9 ซึ่งอยู่ใกล้เคาน์เตอร์พยาบาลไว้รองรับผู้ป่วยถูกงูกัดเพื่อสามารถสังเกตอาการผู้ป่วยได้ใกล้ชิด

รับใหม่จาก ER  ลงเตียงไหนครับ  พนักงานเปลรายงานตัวเสียงดังฟังชัด  เตียง 1 ค่ะ  ฉันบอกพร้อมกับช่วยย้ายผู้ป่วยลงเตียง  สวัสดีค่ะคุณป้า งูอะไรกัด เห็นตัวมันหรือเปล่าค่ะ  ฉันซักประวัติและตรวจร่างกาย  ฉันเห็นงูตัวสีดำ มันไวมากๆ ฉกที่เท้าซ้าย”  ผู้ป่วยหญิงชราอายุ 71 ปี บอกด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นตกใจ   ขณะพูดคุยซักถามอาการฉันเปิดผ้าก๊อสที่ปิดแผลออกดูเพื่อประเมินลักษณะบาดแผล  จากประสบการณ์ที่ทำงานมามากกว่า 10 ปี ทำให้ฉันสังเกตพบว่า รอยแผลที่ถูกงูกัดมันผิดปกติจากที่เคยพบมา ฉันคิดในใจ มันอาจจะเกิดจากงูเห่า เพราะลักษณะของรอยเขี้ยวที่ถูกกัด จุดสีดำและรอบๆแผลแดงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว  ในเวลาไม่กี่นาทีผู้ป่วยบ่นปวดมากและเริ่มกลืนลำบาก กระสับกระส่าย  เป่าPeak Flow < 200 ml  นายแพทย์ธนากรรายงานแพทย์Staff อายุรกรรม และสั่งให้ฉันออกมาจากเตียงโดยที่ไม่ได้บอกญาติและผู้ป่วยเพื่อไม่ให้วิตกกังวลมากขึ้น   ฉันมาปรึกษากันในทีมพยาบาล  หัวหน้าเวรเข้าไปประเมินซ้ำและลงความเห็นเหมือนฉัน   จึงรีบรายงานแพทย์เวรใน  นายแพทย์ธนากรหลังจากรับรายงานจากพยาบาล ก็ให้ความใส่ใจผู้ป่วยดีมาก รีบขึ้นตรวจอาการผู้ป่วยทันที   ช่วงนี้ผู้ป่วยรู้ตัวรู้เรื่องแต่หายใจเหนื่อยหอบมากขึ้น เริ่มมีหนังตาตก เตรียมผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ขณะใส่ท่อช่วยหายใจผู้ป่วยดิ้นไปมา  ใส่ยากมากจน Vocal Cord บวม เริ่มมีจุดเลือดออกตามเยื่อบุในคอ  สถานการณ์เริ่มตึงเครียด  พยาบาลหัวหน้าทีมปรึกษาแพทย์ขอให้พยาบาลวิสัญญีมาช่วยอีกแรง   เวลาไม่นานพยาบาลวิสัญญีก็มาถึง  พี่เตี๋ยวของเราเก่งมากๆและใจเย็นมาก ทำให้สถานการณ์เปลี่ยน ทีมพยาบาลและแพทย์ร่วมมือกันแข็งขัน การใส่ท่อช่วยหายใจสำเร็จไปได้ด้วยดี และรีบย้ายผู้ป่วยลงตึก ICU1 ขณะที่จะย้ายผู้ป่วยลง ICU1 หัวหน้าทีมให้ผู้ช่วยเหลือคนไข้น้องศิริพร ไปรับยาด่วนCobra Antivenum จากห้องยา เพื่อที่จะได้เริ่มยาทันทีที่ถึงตึกICU1 ฉันรู้สึกว่าน้องศิริพรที่ปกติดูเหมือนคนไม่ค่อยมีแรง ในเวลานั้นช่างเดินได้รวดเร็วทันใจจริงๆ   เมื่อฉันไปส่งผู้ป่วยที่ ICU1 ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดี   เจ้าหน้าที่น่ารักทุกคน หลังจากเหตุการณ์วันนั้นผ่านไป ฉันได้ติดตามสอบถามอาการผู้ป่วย ทราบว่าเธอปลอดภัย อาการดีขึ้นย้ายไปอยู่ห้องพิเศษได้  แต่ยังมีแผลที่เท้าที่ต้องได้รับการดูแลต่อไป
             จากเหตุการณ์ในวันนั้นทำให้ฉันและทีมการพยาบาลรู้สึกภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ได้ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เราไม่มีเสียใจที่ได้เกิดมาในวิชาชีพพยาบาลได้มีโอกาสดูแลผู้ที่ทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยและท้ายสุดต้องขอกล่าวชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ทีมสหสาขาวิชาชีพทุกสาขาที่ให้ความร่วมมือ ร่วมคิด ร่วมแรง ร่วมแก้ไข และร่วมดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยจนสามารถรอดพ้นจากนาทีชีวิต สยบอันตรายจากพิษของงูเห่าตัวนี้ได้ ขอยืนหยัดสู้ๆๆคะ


                                                      บันทึกเรื่องเล่าโดย นางสาวอมาวสี  มั่นจิตร
                                                      พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หอผู้ป่วยอายุรกรรม 4
                                                                    บรรณาธิการเรื่องเล่าโดย  นางกาญจนา   สรรพคุณ  

วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การลดขั้นตอนการให้บริการในสิทธิประกันสังคม



นวัตกรรมการลดขั้นตอนการให้บริการในสิทธิประกันสังคม
หอผู้ป่วย สูติ-นรีเวช


ที่มาของปัญหา / หลักการและเหตุผล
                    หอผู้ป่วยสูติ-นรีเวช เป็นหน่วยงานที่ให้การดูแลมารดาในระยะหลังคลอด จากสถิติการให้บริการพบว่ามีมารดาที่ใช้สิทธิประกันสังคมมารับบริการคลอดที่รพ.พระพุทธบาทในปี 2553 และ 2554 มีผู้ป่วยจำนวน 13 และ 8 ราย และในวันกลับบ้านเมื่อต้องชำระเงินผู้ป่วย สามีและญาติ พบปัญหาการไม่ได้เตรียมเงินในส่วนที่ต้องชำระค่าคลอดบุตร บางรายต้องไปยืมจากผู้อื่นมาจ่าย บางรายต้องไปกู้ที่ต้องเสียดอกเบี้ย บางรายเกิดความวิตกกังวลมากในการที่ต้องไปยืมจากผู้อื่น ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบให้เกิดความวิตกกังวลกับผู้ป่วยและญาติ ฝ่ายตรวจสอบสิทธิได้จัดระบบขอค้างชำระค่ารักษาพยาบาลให้ บางรายค้างชำระไว้แล้วมาผ่อนค่ารักษาเป็นรายเดือนให้ภายหลัง จากการติดตามประเมินผลการกลับมาจ่ายค่ารักษาภายหลังพบว่ามากกว่าร้อยละ 50 ผู้ป่วยและญาติไม่กลับมาจ่ายค่ารักษา ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียรายได้ในส่วนนี้
                   จึงได้ศึกษานวัตกรรมการให้บริการเชิงรุกในสิทธิประกันสังคมในการขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคมกรณีคลอดบุตร เพื่อให้เกิดความสะดวกและลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยและญาติ
วัตถุประสงค์
1.      เพื่อให้เกิดความสะดวกและลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยและญาติ
2.   เพื่อให้โรงพยาบาลไม่เกิดการสูญเสียรายได้ และรายรับเพิ่มขึ้น
3.   เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติเกิดความพึงพอใจและประทับใจบริการ
วิธีการดำเนินงาน  (เริ่มดำเนินงานเมื่อ มค. 2555 )
          1. ให้ข้อมูลมารดาและญาติในเรื่องการแจ้งเกิดการและการจัดเตรียมเอกสารสำหรับการแจ้งเกิด
          2. ประเมินสิทธิค่ารักษาของมารดา กรณีที่ผู้คลอดใช้สิทธิประกันสังคมเอง(เจ้าตัว) และให้ข้อมูลเรื่องการขอรับประโยชน์ทดแทนทุกราย
3. พิจารณาให้ความช่วยเหลือ ให้คำแนะนำและช่วยดำเนินการตามขั้นตอนการขอรับประโยชน์ทดแทนเป็นรายบุคคล
4. ทำบอร์ดสื่อสารประชาสัมพันธ์เรื่องการแจ้งเกิดและการใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน
5. ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน


ผลลัพธ์/ผลการดำเนินงาน
รายการ
ก่อนดำเนินการ
หลังดำเนินการ

ปี 2553
ปี 2554
ปี 2555
1.จำนวนผู้ป่วยที่ค้างชำระค่ารักษา
13
8
1
2.จำนวนผู้ป่วยไม่กลับมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล
5
(35,645 บาท)
8
(12,548 บาท)
1
(2,619 บาท)
3.จำนวนผู้ป่วยกลับมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล
8
0
0

การนำไปใช้ในงานประจำ
เป็นข้อมูลที่จำเป็นในการปฐมนิเทศ/ให้คำแนะนำเพื่อช่วยลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยและญาติในด้านเศรษฐกิจ/รายจ่ายของครอบครัว
บทเรียนที่ได้รับ/ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
           1.  การเตรียมความพร้อมของครอบครัวในการแจ้งเกิด
           2.  ผู้ป่วยมีความสุข เจ้าหน้าที่สุขใจที่ได้ให้บริการที่ดี