วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การปกป้องทารกเกิดก่อนกำหนดจากภาวะแทรกซ้อนด้วยนมแม่


1.  ชื่อผลงาน : การปกป้องทารกเกิดก่อนกำหนดจากภาวะแทรกซ้อนด้วยนมแม่

2.  คำสำคัญ : นมแม่- จากการศึกษาประโยชน์และคุณค่าของนมแม่พบว่าเป็นปัจจัยปกป้องของอุบัติการณ์การเจ็บป่วยที่สำคัญ ที่มีผลต่อระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล ค่าใช้จ่าย อัตราการรอดชีวิต เนื่องจากนมแม่มีสารอาหารสำคัญจำเป็นและมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต ลด การเกิดภาวะลำไส้เน่า เพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย โดยเฉพาะในทารกเกิดก่อนกำหนดนมแม่เป็นสารอาหารที่เหมาะสมที่สุด ในระยะแรกหลังคลอดเป็นอาหารที่ทารกรับและย่อยได้ง่ายจึงสามารถให้สารอาหารทางลำไส้ได้ดีลดสารละลายทางเส้นเลือดได้เร็วลดอุบัติการณ์ของการติดเชื้อในกระแสเลือด การเกิดลำไส้อักเสบเปื่อยยุ่ยนอกจากนี้ยังค้นพบจากงานวิจัยอีกว่านมแม่ช่วยลดโรคจอประสาทตาเนื่องจากในนมแม่มีสารทอรีนที่ช่วยให้จอประสาทตาเจริญเติบโตและยังมีสิ่งที่นมผสมไม่สามารถสังเคราะห์ลงไปได้คือสารกระตุ้นจอประสาทตาที่มีอยู่ในน้ำนมแม่เท่านั้นจึงถือว่าในน้ำนมแม่มีสารอาหารที่วิเศษมากและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังกระตุ้นให้เกิดความผูกพันทางจิตใจระหว่างแม่และลูกได้ดีที่สุดและยังกระตุ้นให้แม่เกิดความเป็นแม่มากขึ้น
          :  ทารกเกิดก่อนกำหนด-เป็นทารกที่ยังไม่มีความพร้อมในการเจริญเติบโตอวัยวะต่างๆยังทำงานไม่สมบูรณ์มีอุบัติการณ์ของการเกิดการเจ็บป่วยค่อนข้างสูงซึ่งมีผลต่อระยะเวลาของ การอยู่ในโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายและอัตราการรอดชีวิต

3.  สรุปผลงานสำคัญ : ระยะดำเนินงานเมษายน - กันยายน 2553
ในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมามีจำนวนทารกเกิดก่อนกำหนด 6 ราย อายุครรภ์อยู่ในช่วง 31-35 สัปดาห์น้ำหนักแรกเกิด 1500-1900 กรัม ได้รับนมมารดาตั้งแต่เริ่มนมมื้อแรก 5 รายและได้รับอย่างต่อเนื่องจนพ้นภาวะวิกฤติและเมื่อทารกพร้อมมารดามานอนเลี้ยงให้ breast feeding
ได้สำเร็จทุกราย
            ขณะนอนในโรงพยาบาลทารกทุกรายไม่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดไม่มีภาวะUGI Bleed สามารรับนมได้ดีเจริญเติบโตภายใต้มาตรฐานการพยาบาลร่วมกับการรักษาของแพทย์และเมื่อมีการติดตามการตรวจ ROP พบว่าไม่มีทารกรายใด ตรวจพบภาวะ ROP
            นอกจากนี้ยังมีการติดตามเยี่ยมบ้านเพื่อประเมินการเจริญเติบโตพัฒนาการการให้นมและที่สำคัญคือการให้กำลังใจกับครอบครัวให้มีแนวทางการดูแลบุตรที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจและ เป็นเยาวชนที่ดีในอนาคต 

4.  ทีมนำ : หออภิบาลทารกแรกเกิดเด็ก 2  โรงพยาบาลพระพุทธบาท   สระบุรี
1.  คุณเจียมจิตต์   เฉลิมชุติเดช
2.  คุณเสาวลักษ์   ใคร่ครวญ
3.  คุณยุพิน           มานุจำ

5.  สมาชิกทีม : เจ้าหน้าที่ตึกเด็ก 2 ทุกคน

6.  เป้าหมาย :
1.  ทารกเกิดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนัก1000-2000กรัม ได้รับนมมารดาตั้งแต่มื้อแรกที่เริ่ม feeding และอย่างต่อเนื่อง
2.  ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน NEC  late-on set sepsis  ภาวะ ROP และการกลับมารักษาซ้ำภายใน28วัน
3.  มารดามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและเลี้ยงดูบุตรด้วยนมมารดาและมีพันธะผูกพันทางจิตใจที่ดีต่อกัน
4.  ทารกเกิดก่อนกำหนดทุกรายเจริญเติบโตสมวัย
5.  อัตราในการนอนโรงพยาบาลและค่าใช้จ่ายในการรักษาลดลง

7.  ที่มาของปัญหา :
จากหลักฐานเชิงประจักษ์ พบว่า ทารกเกิดก่อนกำหนดมีอุบัติการณ์ของการเกิดการเจ็บป่วยค่อนข้างสูงซึ่งการเจ็บป่วยที่สำคัญที่มีผลต่อระยะเวลาของการอยู่ในโรงพยาบาล ค่าใช้จ่าย  และอัตราการรอดชีวิต ได้แก่ ลำไส้เน่าเฉพาะที่  late-on set sepsisและที่ตามมาคือภาวะ ROP ซึ่ง
การเจ็บป่วยเหล่านี้พบว่านมแม่เป็นปัจจัยปกป้องที่ดีร่วมกับการรักษาของแพทย์ภายใต้มาตรฐานการพยาบาลที่ดี
จากข้อมูลที่ผ่านมา ทารกเกิดก่อนกำหนดที่รักษาในโรงพยาบาลพระพุทธบาท  พบว่ามีค่าใช้จ่ายในการรักษา 70,000-200,000 บาท  ต่อรายและพบภาวะROP เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

8.  กิจกรรมการแก้ปัญหา :
จะเห็นได้ว่านมแม่เป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันทารกให้รอดพ้นจากภาวะแทรกซ้อนร่วมกับการดูแลของแพทย์-พยาบาลได้เป็นอย่างดี  แต่อย่างไรก็ตามการชักนำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งมองเห็นหรือตระหนักในคุณค่าเป็นสิ่งที่ท้าทายดังนั้นการให้ความรู้กับมารดาต้องใช้ทักษะและหัวใจในการทำงานเพื่อให้เข้าถึงความมุ่งหวังที่ดีของบุคคลากรที่มีต่อบุตรหลานและให้ความร่วมมือในการดูแลรักษาร่วมกัน
จากการดำเนินงานที่ผ่านมาบุคลากรในหน่วยงาน และมารดาให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีพร้อมที่จะมานอนดูแลบุตร แต่อย่างไรก็ตามปัญหาที่พบคือข้อจำกัดในหน่วยงานที่ยังไม่มีเตียงเพียงพอ ขณะนี้กำลังดัดแปลงและใช้ทรัพยากรในหน่วยงานให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยโดยไม่เพิ่มค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล

9.  การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น :
จากข้อมูลแลตัวชี้วัดที่ผ่านมาพบว่า เมื่อเดือน กันยายน 2552-มีนาคม 2553มีทารกเกิดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนัก 1000-2000 กรัม 15 ราย พบ ROP 5 ราย คิดเป็นร้อยละ 22.66 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงและพบว่ามีภาวะ UGI Bleed ร่วมด้วย นั่นหมายถึงการงดนมและให้สารน้ำใหม่อีกครั้ง
อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบอยู่แล้วว่าทารกเกิดก่อนกำหนดต้องการพลังงานในการเจริญเติบโตมากกว่าทารกทั่วไปซึ่งการดูแลที่ผ่านมาเราเน้นการให้นม premature formula เพื่อให้ทารกได้รับพลังงานเพียงพอและยังขาดความร่วมมือจากมารดาในบางราย
จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าทางเลือกในการใช้นมแม่นั้นคุ้มค่าและ
ได้ประโยชน์ต่อองค์กรและทารกอย่างเห็นได้ชัด ที่ผ่านมา
ROP ลดลง เท่ากับ 0 และไม่พบภาวะ UGI Bleed ไม่มีการกลับมารักษาซ้ำภายใน 28 วัน  นอกจากนี้ยังเพิ่มสายสัมพันธ์แม่-ลูก ได้เป็นอย่างดี  ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาลดลงอยู่ระหว่าง 30,000-75,000 บาทต่อราย

10.  บทเรียนที่ได้รับ :
จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาพบว่าการนำหลักการ ทักษะวิชาการและ
ความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมา ถอดความรู้ทั้ง
 Explicit Knowledge และ Tacit Knowledge จะประสบผลสำเร็จในการทำงานได้นั้นต้องเข้าใจและเข้าถึงหัวใจของความป็นมนุษย์และเข้าใจวิถีชีวิต  และวัฒนธรรมชุมชน

11.  การติดต่อกับทีมงาน : หออภิบาลทารกแรกเกิดเด็ก 2  โรงพยาบาลพระพุทธบาท   สระบุรี
1.  คุณเจียมจิตต์   เฉลิมชุติเดช
2.  คุณเสาวลักษ์   ใคร่ครวญ
3.  คุณยุพิน         มานุจำ

นวตกรรมที่รองขา


หลักการและเหตุผล
       การผ่าตัดเสริมเอ็นไขว้หน้าของข้อเข่า( Anterior cruciate ligament reconstruction )เป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาผู้ที่ประสบอุบัติเหตุเอ็นไขว้หน้าของข้อเข่าขาด ซึ่งเป็นได้ทั้งจากอุบัติเหตุทางกีฬา อุบัติเหตุจราจร และอุบัติเหตุอื่นๆ หลังผ่าตัดการจัด Position ที่ถูกต้องและเหมาะสมเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยให้ผู้ป่วยนอนยกขาสูงและเหยียดเข่าตรง เพื่อป้องกัน Flexion contracture ของข้อเข่าและการบวมบริเวณปลายเท้า
        จากประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเสริมเอ็นไขว้หน้าของข้อเข่า เดิมใช้หมอนรองใต้เข่าและต้นขาเพื่อยกขาสูงและเหยียดเข่า บางครั้งเมื่อผู้ป่วยเปลี่ยนอิริยาบถหมอนที่รองอยู่อาจเลื่อน ทำให้ขาผู้ป่วยไม่อยู่ใน Position ที่ต้องการ อาจมี  Flexion   ของข้อเข่า ถ้าไม่มีการเฝ้าระวังที่ดีอาจเกิด Flexion contracture ของข้อเข่าได้ ดังนั้นการดูแลให้ผู้ป่วยหลังผ่าตัดให้ได้รับการวางขาในท่าที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งจำเป็น ด้วยเหตุนี้จึงได้มีแนวคิดที่จะประดิษฐ์ที่รองขา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วย ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความสุขสบายของผู้ป่วย ลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นและผู้ให้บริการปฏิบัติงานได้ง่ายและสะดวกขึ้น

วัตถุประสงค์
1.   เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการSupport ขาให้ได้ Position ที่ถูกต้อง
2.   เพื่อป้องกัน Flexion contracture ของข้อเข่าและการบวมบริเวณปลายเท้า
3.   เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

วิธีการพัฒนานวตกรรม
        จากแนวคิดที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยผ่าตัดเสริมเอ็นไขว้หน้าของข้อเข่า เพื่อเพิ่มความสุขสบายของผู้ป่วย ลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นและผู้ให้บริการปฏิบัติงานได้ง่ายและสะดวกขึ้น ได้ดำเนินการวาดโครงร่าง ทั้งขนาดและวัสดุที่ต้องนำเสนอช่าง โดยขนาดที่รองขาต้องรองรับความยาวของขาทั้งหมดตั้งแต่ต้นขาถึงปลายเท้า และเมื่อวางขาแล้วพื้นสำหรับรองขาต้องไม่แข็งจนเกินไปและทำความสะอาดง่าย โดยใช้หนังเทียมหุ้มฟองน้ำ ส่วนโครงสร้างใช้แสตนเลส สามารถปรับเปลี่ยนมุมได้หลายระดับเพื่อความสุขสบายของผู้ป่วยแต่ละราย
        เมื่อนำมาทดลองใช้ ในระยะแรกไม่มีที่กั้นด้านข้าง ขาผู้ป่วยอาจร่วงจากที่รองขาได้จึงทำที่กั้นเพิ่มเติมค่าใช้จ่ายราคาอันละ 2,800 บาท




ผลลัพธ์
       ได้ทำที่รองขาหมุนเวียนกันใช้ในและนอกหอผู้ป่วยจำนวน 2 อันเมื่อนำมาใช้พบว่ามีความสะดวกในการใช้งาน เนื่องจากมีรูปร่างกะทัดรัดและเคลื่อนย้ายสะดวก สามารถรองรับขาผู้ป่วยได้ทุกขนาดและปรับระดับได้หลายระดับ เพื่อความสุขสบายของผู้ป่วยทั้งนี้เพื่อให้ขาผู้ป่วยอยู่ใน Position ที่เหมาะสมและทำให้การไหลเวียนของโลหิตบริเวณปลายเท้าดีขึ้นไม่เกิดอาการบวม

สรุปผลและข้อเสนอแนะ
        ที่รองขาที่ได้ประดิษฐ์ขึ้นสามารถนำมาใช้งานกับผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผู้ให้บริการมีความสะดวกในการใช้งาน นอกจากนี้ยังได้มีการขยายขอบเขตการใช้งานกับผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อเข่าทุกประเภท ได้แก่ ผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ผู้ป่วยที่ใส่Cylender cast  เป็นต้น

 
จัดทำโดย
นางสาวพรพิมล รัตนสุวรรณ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลพระพุทธบาท  จังหวัดสระบุรี


วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

กล่องหักแอมป์ยา

 ชื่อผลงาน : กล่องหักแอมป์ยา
ทีม
  1. คุณเจียมจิตต์  เฉลิมชุติเดช
  2. คุณภคมณ  กีรติเดชากิจ
สมาชิกทีม : หอผู้ป่วยเด็ก

คำสำคัญ : กล่องหักแอมป์ยา คือ สิ่งประดิษฐ์ที่ทำจากพลาสติกแข็ง(ไซนามิก)  ที่เหลือใช้นำมาตัดเป็น5ส่วนเพื่อประกอบให้เป็นลักษณะกล่อง สี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด กว้าง×ยาว×หนา =  4 × 7 × 3 cm. ด้านในกลวงเพื่อให้ใส่หลอดแอมป์ยาได้  พลาสติกที่รองอยู่ด้านในทั้งสองข้างจะประดิษฐ์ให้ทำงานสัมพันธ์กันเพื่อเป็นตัวสับลงในการหักแอมป์ยา โดยที่ประดิษฐ์ให้มีก้านด้านใดด้านหนึ่งยาวออกมาเพื่อสามารถใช้นิ้วกดลงได้
: Ampoule หรือ แอมป์พูล  หรือ แอมป์ เป็นหน่วยเรียกยาหรือสารน้ำชนิดที่บรรจุมาใน
หลอดแก้ว มีคอคอดไว้ เพื่อให้ใช้ใบเลื่อย เลื่อยก่อน แล้วจึงหักออกได้ ยาบางชนิดจะมีเส้นหรือจุดmarkไว้ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า สามารถหักแอมป์ได้โดยไม่ต้องเลื่อย
เป้าหมาย
  1. ใช้เวลาในการหักแอมป์ยารวดเร็วกว่าแบบเดิม
  2. ผู้ป่วยไม่เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด
  3. บุคลากรมีความพึงพอใจในการใช้เครื่องมือ
ที่มาของปัญหา
จากขั้นตอนการเตรียมยาตามมาตรฐานการพยาบาล หากเป็นยาที่เป็นAmpoule หรือเรียกสั้นๆว่า แอมป์ พยาบาลผู้เตรียมยาต้องใช้ตะไบเลื่อยแอมป์ยาแล้วใช้สำลี 2 ก้อนประกบส่วนบนและส่วนล่างของแอมป์ยา แล้วหักแอมป์ยา ซึ่งในบางครั้งหักไม่ได้ต้องเลื่อยอีกครั้ง พบว่ากิจกรรมการพยาบาลในผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤตซึ่งมีความเร่งรีบ เช่น การเตรียมยา Adrenaline เพื่อใช้ในการCPR,การเตรียมยาAtropine,Sodium Bicarb  รวมถึงการเตรียมKCL เพื่อผสมใน IV  fluid ซึ่งยาแต่ละชนิดดังที่กล่าวมามีขนาดเล็ก-ใหญ่  ความบาง-หนาต่างกัน ทำให้ใช้เวลานาน  อาจเกิดอุบัติการณ์แอมป์ยาบาดมือ การหักแอมป์ยาโดยใช้กล่องหักแอมป์จึงเป็นอีกทางเลือก เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ป้องกันความเสี่ยง ภายใต้มาตรฐานการพยาบาลที่ดี
กิจกรรมการแก้ปัญหา
          การออกแบบนวตกรรม  “กล่องหักแอมป์ยา  ได้มีการศึกษาว่ามีผู้เคยคิดประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับใช้หักแอมป์ยามาบ้างแล้ว  แต่ยังไม่มีผู้ใดประดิษฐ์เป็นแบบกล่องและมีก้านสับลงมาบีบให้หักแอมป์  เมื่อคิดรูปแบบ ออกแบบ จัดหาวัสดุ และประกอบชิ้นงานโดยเจาะรูใส่น๊อต ซึ่งเฉพาะในขั้นตอนการประดิษฐ์ทดลองใช้  มีการปรับปรุงแก้ไข 2-3 ครั้งโดยใช้เวลานาน 1 เดือน จึงนำมาทดลองใช้ภายในหน่วยงาน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

สรุปผลงานสำคัญ :
ในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา ทดลองให้พยาบาลในหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม 2 จำนวน 10 คน การใช้กล่องหักแอมป์ยาแทนการใช้มือหักแอมป์ยา ในขั้นตอนการเตรียมยาสำหรับให้ผู้ป่วย พบว่ามีความสะดวก รวดเร็ว ใช้เวลาในการเตรียมยาลดลง  และปลอดภัยต่อผู้ป่วยและบุคลากร
1.รวดเร็ว คือ ใช้เวลาในการหัก 0.5 วินาที เดิมใช้มือนานประมาณ 10 วินาที ทำให้สามารถบริหารยาโดยเฉพาะผู้ป่วยวิกฤตที่ต้องได้รับการช่วยฟื้นคืนชีพได้เร็วยิ่งขึ้น  ซึ่งทำให้อัตราการรอดชีวิตในทารกแรกเกิดสูงขึ้น
2.ปลอดภัยต่อผู้ป่วย คือไม่พบอัตราการติดเชื้อในกระแสเลือดในผู้ป่วยทุกราย  มีความปลอดภัยต่อบุคลากร คือ ไม่พบความเสี่ยงจากการถูกแอมป์ยาบาดมือขณะหักแอมป์ยา  เดิมมีอุบัติการณ์การเกิดแอมป์ยาบาดมือ
3.มีความสะดวก คือ เป็นอุปกรณ์ที่หยิบจับง่าย ขนาดพอเหมาะกับแอมป์ยาทุกขนาด เดิมแอมป์ยาขนาดใหญ่และหนา เมื่อเลื่อยแล้วยังหักออกยาก
นอกจากนี้ยังเป็นผลงานประดิษฐ์ที่เป็นในรูปแบบที่ยังไม่เคยมีผู้ใดทำมาก่อน ใช้งานง่ายมีความทันสมัย และควรเผยแพร่ เพื่อพัฒนางานต่อไป
อย่างไรก็ตามยังพบข้อจำกัด ในการใช้หักแอมป์ยาที่บรรจุยาขนาด 10 ml มีโอกาสแตก 30%  ซึ่งได้ติดตามวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน พบว่าบุคลากรผู้ใช้บางคนขาดทักษะในการใช้ คือ วางแอมป์ยาไม่พอดีกับเส้นแนวที่กำหนดไว้ 

บทเรียนที่ได้รับ
          อุปกรณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นหากจะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  ต้องเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ได้ง่าย  สะดวก  และก่อให้เกิดผลดีต่อผู้รับบริการ เนื่องจากอุปกรณ์ที่ประดิษฐ์มาใช้ร่วมกับการดูแลรักษาผู้ป่วยนั้นบุคลากรต้องใช้ทักษะและความชำนาญในเบื้องต้น ซึ่งต้องมีการสอน สาธิต วิธีการ เพื่อก่อให้เกิดการยอมรับ และปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

การติดต่อกับทีมงาน
หออภิบาลเด็ก 2
                             โรงพยาบาลพระพุทธบาท  สระบุรี

การดูแลด้วยใจในไอซียู


ชื่อผลงาน/เรื่องเล่า: การดูแลด้วยใจในไอซียู

สรุปเรื่องเล่าโดยย่อ
ไอซียู ใครได้ยินชื่อก็ไม่อยากใช้บริการ เคยได้ยินไหม ? “ถ้าเข้าไอซียูสามวันแล้วยังไม่ได้ออกมาก็มีหวังน้อยแล้ว” เป็นคำพูดของญาติที่มักได้ยินในทำนองนี้บ่อย ๆ แต่ก็มีบางรายเข้ามารับการรักษาแล้ว คนไข้เขาก็ไม่อยากย้ายออก บางทีก็เป็นญาติหรือเป็นแพทย์เองที่ไม่อยากให้ย้ายออก แต่วาระสุดท้ายก็มาถึง เมื่อเขาจะออกแต่ออกไม่ได้ ต้องอยู่กับพยาบาล ใครหนอจะน่าเห็นใจกว่ากัน

เมื่อพูดถึงไอซียู คงจะเห็นภาพ ห้องที่มีประตูหลายชั้น เมื่อเข้ามาก็ต้องเปลี่ยนรองเท้า ล้างมือตามขั้นตอน บางแห่งก็ต้องให้ญาติสวมเสื้อ ใส่หมวก บางแห่งก็แล้วแต่สะดวกไม่ต้องใส่ ภาพของคนไข้นอนเรียงราย มีสายระโยงระยาง ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ทั้งสายเครื่องช่วยหายใจ สายเครื่องติดตามการทำงานของหัวใจ สายวัดความดันโลหิต สายวัดความอิ่มตัวของออกซิเจน สายน้ำเกลือ สายยางให้อาหาร สายสวนปัสสาวะ แค่นี้อาจยังไม่พอ เพราะญาติก็เพิ่มสายสิญจน์ สายสร้อย พวงมาลัย ให้คนไข้ตามความเชื่อของเขา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ก็ผ่อนปรน ยืดหยุ่นให้ตามสภาพเพราะนั่นถือว่าเป็น “สายใจ” แห่งความหวังและศรัทธา

คนไข้สาวโสด อายุ 36 ปี ใบหน้ากลม ตาโต ผิวขาว จบการศึกษาปริญญาโท เจ็บป่วยด้วยเรื่องเนื้องอกในสมอง ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ มาระยะหนึ่ง ญาติขอย้ายมารับการรักษาต่อโรงพยาบาลใกล้บ้าน  เพื่อสะดวกในการดูแล ที่แรกที่คนไข้ย้ายมาก็คือ ไอซียู คนไข้ไม่ได้ใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่มีปัญหาเรื่องความดันโลหิตหลังผ่าตัดสมอง เข้ามาเพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ไม่กี่วันคนไข้ก็ย้ายออกได้ ไปอยู่ตึกพิเศษ แต่ย้ายไปได้ไม่กี่วัน ก็ย้ายกลับมาด้วยเรื่องชักเกร็ง ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งใช้เวลานานหลายวันกว่าจะเลิกใช้เครื่องได้ ผู้ป่วยได้ย้ายออกไปอยู่ตึกพิเศษมีพ่อแม่เป็นผู้ดูแล ต่อมาคนไข้ก็มีปัญหาหอบเหนื่อยจากปอดอักเสบต้องกลับมาใส่ท่อช่วยหายใจ ย้ายกลับมาไอซียู และไม่สามารถเอาท่อช่วยหายใจออกได้ ต้องเจาะคอ   คนไข้มีอาการแย่ลงจากระดับความรู้สึกตัวรู้เรื่อง ก็เริ่มซึมลง เหม่อลอย ไม่สามารถทำตามคำบอกได้ จากคำบอกเล่าของน้องสาวคนไข้ บอกว่าคนไข้มองไม่เห็นแล้วเนื่องจากเนื้องอกไปกดเส้นประสาทที่ตา ทำให้ดวงตาที่กลมโตคู่นั้นเหม่อลอยไม่มีการสบตากับพยาบาลเลย

การดูแลในวันหนึ่ง ๆ ของคนไข้มีการอาบน้ำบนเตียงเช้า - เย็น การดูดเสมหะ การให้อาหารทางสายยาง การคาสายสวนปัสสาวะ วันหนึ่ง ๆ จะมีพ่อแม่ พี่สาว น้องสาว และเพื่อน ๆ ผลัดเปลี่ยนกันมาเยี่ยมเสมอ จนหลัง ๆ พยาบาลกับญาติก็ได้แต่ยิ้มเฝื่อน ๆ เพราะไม่รู้ว่าจะถามหรือตอบอะไรแล้ว แต่เมื่ออาการคงที่ผู้ป่วยสามารถฝึกหายใจไม่ต้องพึ่งเครื่องช่วยหายใจแล้ว พยาบาลได้สอบถามความคิดเห็นของญาติเกี่ยวกับการย้ายไปดูแลที่ตึกพิเศษ ญาติต้องการที่จะให้คนไข้อยู่ไอซียูมากกว่าเนื่องจากไว้วางใจเมื่อมีอาการฉุกเฉินจะได้ช่วยเหลือทัน พยาบาลสอบถามแพทย์ถึงแผนการดูแล แพทย์ตอบว่า “ย้ายไปก็มีปัญหาเหนื่อยหอบอีก ก็ให้อยู่ที่นี่จน อื้อ...(ลากเสียงยาวพร้อมกับเคลื่อนใบหน้าไปตามเสียง) ก็แล้วกัน”  พยาบาลได้ส่งเวรกันตามแบบที่แพทย์ทำ และให้การพยาบาลตามปกติทุกวัน

การพยาบาลที่ทำให้ดิฉันรู้สึกว่าเป็นการพยาบาลที่สามารถเข้าถึงความรู้สึกคนไข้ได้ และช่วยในเรื่องความสุขสบายที่แท้จริงคือ  การนวดด้วยใจ  ดิฉันเริ่มนวดด้วยใจหลังจากไปอบรมเครือข่ายบริการโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลสระบุรีจัดที่โรงแรมกรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ รุ่น 1 ดิฉันได้นวดให้คนไข้เสมอเมื่อมีโอกาส ผลลัพธ์ที่ได้มากกว่าที่คิดไว้ ตอนแรกที่นวดก็เพื่อให้คนไข้รู้สึกผ่อนคลาย สบายขึ้นถึงแม้เขาไม่สามารถบอกได้ แต่จากการประเมินอาการชีพจร ความดัน การหายใจ ดีขึ้นและที่สำคัญ ผู้ป่วยลืมตามากขึ้น บางครั้งมี น้ำตาคลอเบ้า ดิฉันเข้าใจว่าเขาคงซาบซึ้ง ขอบคุณเรา  นอกจากนี้สัมพันธภาพกับญาติก็ดีขึ้น ดิฉันอธิบายในเรื่องการนวดให้คนไข้ การใช้เบบี้ออยล์ทาขณะนวด ซึ่งญาติก็สนใจซื้อมานวดให้คนไข้  มันเป็นสัมพันธภาพที่ดีกว่ายิ้มแบบเฝื่อน ๆ

การนวดด้วยใจของดิฉันทำได้ทุกเวรเมื่อมีโอกาสทั้งคนไข้มะเร็งและไม่ใช่มะเร็ง ผลลัพธ์ที่ได้ นอกจากความสุขสบายที่ผู้ป่วยได้รับแล้ว ดิฉันก็สามารถให้การพยาบาลได้อย่างอิสระ ไม่ต้องรอแผนการรักษา มีแพทย์ที่เห็นดิฉันนวดให้คนไข้ เขาก็ทำหน้าตกใจแล้วบอกว่า “มีการนวดด้วยหรือ ? ไม่เห็นนวดให้คนไข้ผมบ้างเลย” ดิฉันเลยตอบแบบยิ้ม ๆ ว่า “ก็หมอเขียน consult มาซิคะ” แพทย์บางคนก็ทำตาโตบอกว่า “ดีจัง มีสปาให้คนไข้ด้วย” ญาติคนไข้เห็นก็ทำตามบ้างทั้งเตียงที่นวดอยู่ และเตียงอื่น ๆ นอกจากนี้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนคือ น้อง ๆ พยาบาลตลอดจนผู้ช่วยเหลือคนไข้ขอให้ดิฉันสอนนวด ซึ่งดิฉันภูมิใจมากที่ทีมการพยาบาลเห็นคุณค่าในการกระทำนี้

และแล้ววาระสุดท้ายก็มาถึง วันนั้นดิฉันขึ้นเวรเช้าได้นวดให้คนไข้รายนี้ ดูคนไข้ไม่ค่อยมีการตอบสนอง คนไข้ซึมลง ปัสสาวะไม่ออก ต้องใส่สายสวนปัสสาวะให้แล้วพบว่ามีปัสสาวะเป็นเลือด รายงานแพทย์ได้สั่งการรักษา ต่อมามีความดันโลหิตต่ำ ได้รับยาเพิ่มความดัน และแจ้งญาติ ซึ่งพวกเขาก็พากันมาเยี่ยมหลายคน ผู้ป่วยอาการแย่ลง ผ่านไป 2 วัน ดิฉันกลับมาขึ้นเวรดึก คนไข้ก็เสียชีวิตประมาณตีหนึ่ง ญาติมาเยี่ยมกันพร้อมหน้า น้องสาวคนไข้ขอนำคนไข้กลับบ้านเลย พยาบาลผู้ดูแลได้ชี้แจงตามระเบียบต้องให้คนไข้อยู่บนตึก 2 ชั่วโมงก่อนเคลื่อนย้ายไปห้องเก็บศพ ญาติยืนยันที่จะนำคนไข้กลับบ้านเพราะต้องการให้กลับเลยไม่ต้องการให้นำไปห้องเก็บศพ พยาบาลผู้ดูแลได้ให้คุยกับพยาบาลตรวจการ ซึ่งพยาบาลตรวจการก็ไม่อนุญาตให้นำศพกลับ และให้ทำตามระเบียบ ดิฉันได้สอบถามน้องสาวคนไข้ถึงสาเหตุที่ต้องการนำคนไข้กลับ ได้ความว่า เป็นคำขอร้องของคนไข้ที่ไม่ต้องการอยู่ห้องเก็บศพหลังจากที่ตายแล้ว ดิฉันจึงเข้าใจและคิดว่าเราอุตส่าห์ดูแลเขาจนวาระสุดท้ายจะเกิดข้อขัดแย้งตอนรับศพซึ่งไม่ควรที่จะให้เป็นปัญหา จึงได้อธิบายอย่างเข้าใจความรู้สึกของญาติ ว่าสาเหตุที่เราไม่ให้กลับเนื่องจากเป็นเวลากลางคืนการเคลื่อนย้ายออกนอกโรงพยาบาลไม่สะดวก เพราะต้องทำหลักฐานหลายอย่าง อีกทั้งถ้าพบด่านตำรวจ อาจถูกมองว่าเป็นการฆาตกรรมได้ ซึ่งญาติเข้าใจ ยอมรับที่จะนำคนไข้กลับเวลาเช้า แต่ญาติไม่ขอนำคนไข้ไว้ห้องเก็บศพ หลังเสียชีวิต 2 ชั่วโมง ดิฉันจึงได้ปรึกษาในทีมการพยาบาลว่า ถ้าครบ 2 ชั่วโมงก็ให้คนไข้นอนเตียงเดิมก่อน  ถ้ามีคนไข้อื่นต้องการเตียงจะย้ายเตียงคนไข้นี้ไปอีกด้านหนึ่ง ซึ่งญาติเห็นด้วย แล้วพวกเขาก็พากันออกไปรอข้างนอกไอซียู ดิฉันเดินออกไปถามว่าทำไมไม่กลับไปนอนที่บ้านพัก   น้องสาวคนไข้ตอบว่า “ไม่อยากทิ้งคนไข้ไว้คนเดียวถึงแม้จะตายแล้ว” ดิฉันรับรู้ถึงความรู้สึกผูกพันที่เขามีให้กัน พวกเราพยาบาลก็ได้ให้การดูแลคนไข้อื่น ๆ ตามปกติ และมองคนไข้ที่นอนบนเตียงด้วยความเศร้าใจปนหวาด ๆ และเมื่อถึงตอนเช้า เราก็จัดการทุกอย่างเรียบร้อย ญาติมาขอบคุณยกมือไหว้หลายครั้ง หลายคน จนถึงขณะนี้ เราเจอกับน้องสาวคนไข้เค้าก็ยกมือไหว้ เราก็รับไหว้และยิ้มให้กันเสมอ

ชื่อและที่อยู่ขององค์กร: หอผู้ป่วยหนัก โรงพยาบาลพระพุทธบาท 86 หมู่ 8 ต.ธารเกษม อ. พระพุทธบาท จ. สระบุรี 18120

สมาชิกทีม: นางสำราญ  จันทร์พงษ์  นางสาวอรอุมา  บัวภา  นางพัชรีรัตน์  เปลี่ยนสะอาด
เป้าหมาย: เพื่อความสุขสบายทั้งกายและใจของผู้ป่วยและญาติ

ที่มาของปัญหา: ในหอผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว ถูกจำกัดกิจกรรมต้องนอนบนเตียง ได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคที่เป็นอยู่ การดูแลเป็นไปตามแผนการรักษา และให้การพยาบาลตามปกติประจำวัน จนบางครั้งความรู้สึกชินชา ทำงานเหมือนเครื่องจักร ทำงานด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่หัวใจด้านชา ขาดความรู้สึกในการดูแลด้วยใจ ทั้งที่เป็นหัวใจในการพยาบาล การปฏิบัติการพยาบาลโดยไร้ความรู้สึก เราก็ไม่ต่างจากเครื่องจักรกล ดังนั้น การพยาบาลด้วยใจจะทำให้งานเกิดคุณค่ามากขึ้น

กิจกรรมการแก้ปัญหา/พัฒนา
นวดด้วยใจให้เป็นตัวอย่างที่ดีให้ทีมได้เห็นกับตาด้วยตนเอง
บันทึกในสมุดการพยาบาล Comfort care หลังนวดทุกครั้งและมีการจดผลลัพธ์หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
สอนการปฏิบัติการนวดด้วยใจแก่ทีมพยาบาลผู้สนใจ
ประเมินผลหลังการสอนทุกคน
จัดประชุม Comfort care ให้เจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยหนัก
วางแผนทำ R2R ในเรื่องนวดด้วยใจในผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น: เจ้าหน้าที่กระตือรือร้นในเรื่องการนวดด้วยใจ มีเรื่องเล่าหลังนวดด้วยใจ ทั้งเรื่องของคนไข้ คนในครอบครัว เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดี

บทเรียนที่ได้รับ: การดูแลด้วยใจ ให้อะไร อะไรได้มากกว่าที่คิด

การติดต่อกับทีมงาน: นางสำราญ  จันทร์พงษ์ หอผู้ป่วยหนัก โรงพยาบาลพระพุทธบาท เบอร์โทร 086-5236798 e-mail: petch_j@yahoo.com


การพัฒนาระบบการรับส่งข้อมูลระหว่างเวร

ชื่อโครงการ    ผลของการพัฒนาระบบการรับส่งข้อมูลระหว่างเวร   
ชื่อผู้วิจัย            
                        นางเจียมจิตต์           เฉลิมชุติเดช    หัวหน้าหอผู้ป่วยเด็ก 2 โรงพยาบาลพระพุทธบาท
นางสาวนงนารถ   โฉมวัฒนา           พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการ
นางชูวลี                 เจริญสุข          พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการ
นางสาวณัฐพัชร์    ทองสีนาค           พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการ
นางสาวพรทิพย์    บุญเปลี่ยน          ผู้ช่วยเหลือคนไข้

ชื่อหน่วยงาน       หอผู้ป่วยเด็ก 2 โรงพยาบาลพระพุทธบาท

ที่มาของปัญหา
จากการปฏิบัติงานที่ผ่านมาเกิดปัญหาการดูแลผู้ป่วยที่คลาดเคลื่อนซึ่งเป็นอุบัติการณ์ความเสี่ยงทางการพยาบาลเกิดขึ้น เช่น การลืมเจาะน้ำตาลในเลือด ในทารกที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ตามเวลาที่แพทย์กำหนด  
ลืมตามฟิล์ม X-ray  ลืมส่งผู้ป่วยตรวจ ROP ตามนัด    ให้ยาผิดเวลาไม่ตรงตามแผนการรักษาของแพทย์        ความคลาดเคลื่อนเหล่านี้อาจเป็นผลให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายถึงชีวิต  เนื่องจากได้รับการรักษาหรือการดูแลที่ล่าช้า       ซึ่งอุบัติการณ์ความเสี่ยงเหล่านี้  เป็นผลมาจากการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยระหว่างเวรไม่มีประสิทธิภาพ   ได้แก่ ส่งข้อมูลที่สำคัญในการดูแลผู้ป่วยไม่ครบถ้วน  บางครั้งผู้ส่งข้อมูล  ซึ่งได้ส่งข้อมูลแล้วแต่ผู้รับเวรไม่มีความพร้อมในการรับฟัง    ขาดสมาธิ ไม่มีอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการจดบันทึก ไม่มีระบบการจัดเก็บที่เป็นระเบียบ    ข้อมูลที่จดบันทึกสูญหายทำให้ขาดหลักฐานเวลาที่ต้องการใช้อ้างอิง  และนอกจากนี้ บางครั้งยังมีเสียงดังรบกวนในขณะรับส่งข้อมูล    ซึ่งได้แก่ เสียงร้องของเด็กป่วย  เสียงญาติคุยกัน  เสียงโทรศัพท์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยทำให้การรับส่งเวรไม่มีประสิทธิภาพ    เป็นผลให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องทันเวลา     
            กลุ่มเด็กสร้างสรรค์ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้  จึงมีความต้องการพัฒนาระบบการรับส่งข้อมูลผู้ป่วยระหว่างเวรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

วัตถุประสงค์
เพื่อศึกษาผลของการพัฒนาระบบการรับส่งข้อมูลผู้ป่วยระหว่างเวร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วย
            1. เพื่อลดอุบัติการณ์ความผิดพลาดในขั้นตอนการดูแลผู้ป่วยเนื่องจากการรับส่งข้อมูลระหว่างเวรไม่มีประสิทธิภาพ
            2. เพื่อศึกษาความพึงพอใจจากการพัฒนาระบบการรับส่งข้อมูลระหว่างเวร ของพยาบาลประจำการ

ระเบียบวิธีวิจัย      ใช้ระเบียบวิธีวิจัย Research and Development  มีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

วิเคราะห์สาเหตุ
  สาเหตุของปัญหาในการรับส่งข้อมูลไม่มีประสิทธิภาพ สามารถวิเคราะห์โดยใช้ แผนภูมิก้างปลา
( Fishbone Diagram)    ดังนี้
 วิธีการพัฒนา
     ผู้วิจัยได้พัฒนาระบบการรับส่งข้อมูลผู้ป่วยระหว่างเวรให้เป็นมาตรฐาน ทั้งในด้านบุคลากร ด้านข้อมูลในการสื่อสาร ด้านอุปกรณ์ในการจดบันทึก และด้านการจัดสิ่งแวดล้อม  ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้
หลังจากดำเนินการรับส่งข้อมูลระหว่างเวรตามการพัฒนาระยะที่ 1 เป็นเวลา  3   เดือน ตั้งแต่ 
1 พฤษภาคม 2553 30 กรกฎาคม 2553  ตามแนวทางข้างต้น       ประเมินผลโดยประเมินคุณภาพการบันทึกการรับส่งข้อมูลระหว่างเวร  ซึ่งประเมินโดยหัวหน้าหอผู้ป่วย  ประเมินผลความพึงพอใจต่อการใช้ระบบการรับส่งข้อมูลระหว่างเวร   ซึ่งประเมินโดยพยาบาลประจำการจำนวน 14 คน   และจากการเก็บอุบัติการณ์ความเสี่ยงที่เกิดจากการรับส่งข้อมูลไม่มีประสิทธิภาพ    จากนั้นกลุ่มเด็กสร้างสรรค์ได้รวบรวมผลการประเมินเข้าที่ประชุมประจำเดือน  เพื่อขอข้อเสนอแนะจากเจ้าหน้าที่ทุกคนในการปรับปรุงวิธีการปฏิบัติและพัฒนาเป็นระบบการรับส่งข้อมูลระหว่างเวรระยะที่ 2 ได้ดังนี้
1.     ทำความเข้าใจการใช้แบบบันทึกการรับส่งข้อมูลระหว่างเวรแก่พยาบาลประจำการซ้ำอีกครั้ง
2.     เพิ่มระบบการตรวจติดตามการใช้และการจัดเก็บแบบบันทึกการรับส่งข้อมูล ซึ่งมีรูปแบบดังนี้
2.1 การประเมินผลการใช้แบบบันทึกการรับส่งข้อมูลระหว่างเวรเป็นระยะทุก 1,3 และ 6 เดือน
2.2 การจัดเก็บ   มีการจัดวางอย่างเป็นระเบียบในกล่องเก็บใกล้โต๊ะรับเวร
2.3 รูปแบบการจัดทำแบบบันทึก  ให้ทำเป็นเล่ม ระบุชื่อเจ้าหน้าที่ประจำเล่ม      
3.     จัดสถานที่การรับส่งเวรใหม่   โดยให้ห่างจากความพลุกพล่านของผู้ป่วยและญาติ
4.     การใช้คำย่อ  ไม่ใช้คำย่อที่ไม่เป็นสากล
5.     กำหนดให้ Leader  ทีมที่ส่งเวร เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยขณะรับ ส่งเวร  และ
กำหนดให้ Aid ทีมที่ส่งเวร เป็นผู้ดูแลต้อนรับญาติและช่วยแก้ไขสิ่งที่ทำให้เกิดเสียงการรบกวนอื่น ๆ

            กลุ่มตัวอย่าง        เจ้าหน้าที่ประจำหอผู้ป่วย ตึกเด็ก 2 โรงพยาบาลพระพุทธบาท จำนวน  14  คน
            สถานที่              ตึกเด็ก 2 โรงพยาบาลพระพุทธบาท
            ช่วงเวลา             1 พ.ค. 53 - 31 ต.ค. 53
            การวิเคราะห์ข้อมูล            ความถี่และค่าเฉลี่ย

ผลการศึกษา

















การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในงานประจำ  ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน

จากผลการวิจัย  ผู้วิจัยได้นำผลการวิจัยมาใช้ประโยชน์ในงานประจำ  โดยกำหนดเป็นมาตรฐานในการรับส่งข้อมูลผู้ป่วยระหว่างผู้ปฏิบัติงานในการเปลี่ยนเวร ( Communication  During  Patient  care Handovers )  เพื่อส่งมอบข้อมูลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพลดการเกิดอุบัติการณ์ความเสี่ยงทางการพยาบาล   ได้ดังนี้

ด้านบุคลากร
1.   กำหนดให้ 1 ชั่วโมง ก่อนส่งเวร  Incharge ต้องติดตามงานและแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ  และก่อนส่งเวร 30 นาที จัดให้มี Post Conference กับทีมเพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานและเป็นการรวบรวมข้อมูล
ก่อนส่งเวร
2.   เจ้าหน้าที่ทุกคนมารับเวรตรงเวลาดังนี้ เวรเช้าเวลา 08.00 น. เวรบ่ายเวลา 16.00 น.เวรดึกเวลา 24.00 น. ถ้ามีเหตุจำเป็นไม่สามารถมาตามเวลาได้ ให้แจ้งก่อน 15  นาที  ถ้าไม่ปฏิบัติตามจำนวน  2  ครั้งถูกตักเตือนโดยหัวหน้าหอผู้ป่วย  และถ้าเกิน 5 ครั้ง มีผลต่อการพิจารณาความดีความชอบในรอบ  6  เดือน
3.   ขณะรับ ส่งเวร  งดปฏิบัติกิจกรรมอื่น เช่น คุยโทรศัพท์  ดื่มกาแฟ พูดคุยกับบุคคลอื่น เป็นต้น
4.   เจ้าหน้าที่ก่อนมาปฏิบัติงานควรพักผ่อนให้เพียงพอ  เพื่อให้มีสภาพร่างกายและจิตใจ สมบูรณ์ พร้อมปฏิบัติงาน และทำสมาธิก่อนรับเวรโดยหลับตานาน 10 วินาทีพร้อมกัน  
5.   กำหนดให้มีการ pre – conference ก่อนปฏิบัติงานทุกเวร เพื่อทบทวนข้อมูลที่ได้รับ และสื่อสารให้ตรงกันในทีมการพยาบาล

ด้านข้อมูลที่ต้องสื่อสาร
        1.ใช้หลัก SBAR
            S = Situation  ได้แก่  หมายเลขเตียง   ชี่อ สกุลผู้ป่วย  สถานการณ์ผู้ป่วย และเวลาที่เกิดปัญหา
B = Background  ได้แก่ ข้อมูลภูมิหลังเกี่ยวกับสถานการณ์  Diagnosis  บัญชีรายการยา  สารน้ำที่ได้รับ  การแพ้ยา  ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
A = Assessment  การประเมินอาการ และปัญหาที่สำคัญของผู้ป่วย
R = Recommendation      ข้อแนะนำในการดูแลต่อเนื่องในเวรต่อไป
        2.จัดสรรเวลาให้เพียงพอ สำหรับสื่อสารข้อมูลสำคัญ และการถามตอบในประเด็นสงสัย  โดยไม่มีการขัดจังหวะ
        3. มีการทวนซ้ำ ( repeat back )  และอ่านซ้ำ ( read back ) ในข้อมูลที่สำคัญ
ด้านอุปกรณ์
1. รับเวรโดยใช้สมุดรับเวรตามมาตรฐานที่ได้จัดทำไว้ โดยจัดทำสมุดรับเวรเป็นรายบุคคลซึ่งมีรายละเอียดดังนี้  หมายเลขเตียง ชื่อผู้ป่วย อาการและอาการแสดง  กิจกรรมที่ต้องปฏิบัติต่อเนื่องในเวร  และการประเมินผลโดยใช้สัญลักษณ์        ü ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว      û ไม่สามารถดำเนินการได้  ให้ระบุเหตุผลคร่าว ๆ ด้วย
2.     เก็บสมุดรับเวรในกล่องที่จัดไว้ให้ เพื่อสะดวกในการหยิบใช้งานและง่ายต่อการตรวจสอบ


ด้านสิ่งแวดล้อม
1. รับ-ส่งเวรในบริเวณที่จัดไว้ให้   ซึ่งเป็นสถานที่ไม่มีคนพลุกพล่าน
2. ปิดประตูห้อง PICU และ NICU ในขณะรับส่งเวร
3.  มอบหมายให้ Leader ในทีมผู้ส่งเวรเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยและมอบหมายให้ Aid ดูแลความเรียบร้อยและ
ช่วยแก้ไขสิ่งที่ทำให้เกิดเสียงการรบกวนอื่น ๆ       
4. เจ้าหน้าที่ที่ไม่มีส่วนร่วมในการรับ-ส่งเวร งดใช้เสียง  และงดใช้อุปกรณ์ที่ทำให้เกิดเสียงรบกวน เช่น Printer โทรศัพท์   เป็นต้น

บทเรียนที่ได้รับ
            การทำงานประจำให้เป็นงานวิจัย (R2R) ไม่ใช่สิ่งที่ยาก   และทำให้บุคลากรมีแนวทางในการพัฒนางานประจำได้อย่างต่อเนื่อง บุคลากรทางการพยาบาลเป็นบุคคลสำคัญในการจัดการความเสี่ยง (Risk management)  เพราะเป็นผู้ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วยมากที่สุดตลอด 24 ชั่วโมง  ทำให้ทราบปัญหาและความเสี่ยงของผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลได้รวดเร็ว  ดังนั้นผลการพัฒนาระบบการรับส่งข้อมูลระหว่างเวร  จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการดูแลผู้ป่วยเพื่อให้เกิด Patient Safety goal  ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องและทันเวลา

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
            การทำงานร่วมกันเป็นทีม  การเปิดใจยอมรับ  เพื่อปรับเปลี่ยนการทำงานของทีมบุคลากรในหน่วยงานหอผู้ป่วยเด็ก 2  ทำให้มีการพัฒนางานอย่างต่อเนื่องเป็นระบบและประสบความสำเร็จ  นอกจากนี้การสนับสนุนของผู้บริหารในการให้โอกาสพัฒนาการปฏิบัติงาน  การนิเทศงานอย่างสม่ำเสมอทำให้บุคลากรมีความกระตือรือร้นในการพัฒนางาน  โดยยึดหลักผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง   ทำให้มีวัฒนธรรมความปลอดภัยในหน่วยงาน  เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญเช่นกัน