วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การพัฒนาระบบป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการแพ้ยาซ้ำ ในโรงพยาบาลพระพุทธบาท

1. ชื่อผลงาน : การพัฒนาระบบป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาซ้ำ                        
ในโรงพยาบาลพระพุทธบาท

2. คำสำคัญ : อาการไม่พึงประสงค์จากยา  แพ้ยา แพ้ยาซ้ำ

3.สรุปผลงานโดยย่อ : พัฒนาและปรับระบบโดยดำเนินการทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ เพื่อให้สามารถค้นพบการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยให้ครอบคลุม ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยในการใช้ยา ไม่เกิดแพ้ยาซ้ำ ในโรงพยาบาลพระพุทธบาท

4. ชื่อและที่อยู่องค์กร : คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด โรงพยาบาลพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

5. สมาชิกทีม : คณะกรรมการการติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา

6. เป้าหมาย :    อุบัติการณ์การแพ้ยาซ้ำ  = 0  

7.ปัญหาและสาเหตุโดยย่อ
เป้าหมายหลักของการใช้ยาในการบำบัดรักษาโรคและอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น คือการใช้ยาให้เกิดประสิทธิผลและมีความปลอดภัยสูงสุด ในขณะที่ยาให้ผลในการรักษานั้น อีกด้านหนึ่งก็อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งพบได้ตั้งแต่ผลกระทบเล็กน้อยจนรุนแรงถึงเสียชีวิต การดำเนินงานของโรงพยาบาลที่ผ่านมาในช่วงแรกมีลักษณะในเชิงตั้งรับ คือเมื่อบุคลากรสาธารณสุขพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา จะแจ้งมายังกลุ่มงานเภสัชกรรม เพื่อให้เภสัชกรทำการประเมิน เก็บรวบรวมประวัติและรวบรวมข้อมูลส่งคณะกรรมการอาหารและยา แต่จากการทบทวนอุบัติการณ์การเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาปีงบประมาณ 2549 ที่ผ่านมา พบอุบัติการณ์แพ้ยาซ้ำ 4 ราย ซึ่งมีสาเหตุจากระบบของโรงพยาบาลจำนวน 3 ราย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติที่กำหนด และความล่าช้าในการบันทึกข้อมูลแพ้ยาในคอมพิวเตอร์
ดังนั้นคณะกรรมการติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาโรงพยาบาลพระพุทธบาท  จึงได้ทำการพัฒนาและปรับระบบ โดยดำเนินการทั้งในเชิงรับได้แก่ 1) ระบบ spontaneous report และเชิงรุกได้แก่ 2) ระบบการคัดกรองประวัติแพ้ยา(screening) เพื่อให้สามารถค้นพบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นและครอบคลุม ป้องกันการเกิดแพ้ยาซ้ำ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยในการใช้ยามากขึ้น

 8.การเปลี่ยนแปลง :
-จัดระบบให้ผู้ป่วยทุกคนทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในได้รับการสัมภาษณ์ประวัติการแพ้ยาจากทั้งพยาบาล แพทย์ผู้สั่งยา และเภสัชกรขณะส่งมอบยา โดยที่ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาทุกรายต้องได้รับการประเมินและบันทึกประวัติการแพ้ยาโดยเภสัชกร เพื่อเข้าระบบป้องกันการแพ้ซ้ำ
-ประชุมชี้แจงแนวทางดังกล่าวให้แก่แพทย์ เภสัชกร พยาบาลแผนกผู้ป่วยนอก และพยาบาลหัวหน้าหอผู้ป่วย 
-ประสานกับเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์เพื่อให้ข้อมูลยาที่ผู้ป่วยแพ้ แสดงบน ใบสั่งยา , ใบจัดยา  , Doctor’s  order sheet , Kardex  และ ใบ MAR
- กำหนดให้เภสัชกรตรวจสอบความสมบูรณ์ในการบันทึกข้อมูลแพ้ยาในคอมพิวเตอร์
          - ทบทวนอุบัติการณ์การแพ้ยาซ้ำ โดยทีมสหสาขาวิชาชีพ 
         - พัฒนาช่องทางการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยแพ้ยาจากโรงพยาบาลชุมชนในครือข่ายมาที่โรงพยาบาลพระพุทธบาทเพื่อเข้าระบบป้องกันแพ้ยาซ้ำในเครือข่าย

9. การวัดผลและผลการเปลี่ยนแปลง :
ในปีงบประมาณ 2550 พบอุบัติการณ์ ผู้ป่วยแพ้ยาซ้ำ จำนวน 2 ครั้ง ในปีงบประมาณ 2551 และ
2552 ไม่พบอุบัติการณ์ ผู้ป่วยแพ้ยาซ้ำ
จำนวนผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาได้รับการประเมินและบันทึกประวัติการแพ้ยาโดยเภสัชกร  ตั้งแต่
ปีงบประมาณ 2549 - 2552 จำนวน 1,638 ราย ดังแสดงในกราฟ

-สามารถป้องกันปัญหาการแพ้ยาซ้ำ แพ้ยาข้ามกัน ในผู้ป่วยที่แพทย์สั่งใช้ยาที่ผู้ป่วยแพ้หรือให้ประวัติแพ้ยา จำนวน  52 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.17 ( ป้องกันแพ้ยาซ้ำ  23  ราย และป้องกันการแพ้ยาข้ามกัน 29  ราย ) เฉลี่ยปีละ 13.5 ราย  หากเกิดการแพ้ยาที่รุนแรงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา  คิดเป็นเงินประมาณ 8.2 แสนบาท (คำนวณจากค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาอาการแพ้ยารุนแรง  15,858   บาท/ราย ในปีงบประมาณ 2551)



จำนวนผู้ป่วย
 
- ในปีงบประมาณ 2552 มีผู้ป่วยแพ้ยาที่พบในโรงพยาบาลชุมชนเครือข่ายจำนวน 158 ราย ซึ่งถูกส่งต่อมาที่โรงพยาบาลพระพุทธบาท ดังแสดงในกราฟ  โดยที่ผู้ป่วยจำนวน  95 ราย  คิดเป็นร้อยละ 60.12 ได้ถูกนำมาเข้าระบบป้องกันแพ้ยาซ้ำในโรงพยาบาลพระพุทธบาท เนื่องจากมีประวัติรับการรักษาในโรงพยาบาล


10. บทเรียนที่ได้รับ :
          การทบทวนข้อมูลอุบัติการณ์การแพ้ยาในภาพรวมทั้งหมด และอุบัติการณ์การแพ้ยาซ้ำเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์สำหรับค้นหาโอกาสพัฒนาส่งผลให้ผู้ป่วยปลอดภัยในการใช้ยา
-  แผนที่จะดำเนินการต่อเนื่อง คือ การพัฒนาระบบเฝ้าระวังในเครือข่ายโรงพยาบาลพระพุทธบาท
ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชน และสถานีอนามัย ในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลให้เข้มแข็งขึ้น
11. การติดต่อกับทีมงาน : คณะกรรมการการติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยา
โรงพยาบาลพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เบอร์โทรศัพท์ 036-266111 ต่อ 5122 , 5124






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น