วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การพัฒนาระบบป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา ในโรงพยาบาลพระพุทธบาท

1. ชื่อผลงาน : การพัฒนาระบบป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา ในโรงพยาบาลพระพุทธบาท

2. คำสำคัญ อาการไม่พึงประสงค์จากยา  แพ้ยาซ้ำ แพ้ยาข้ามกัน (Cross Reaction ) การเฝ้าระวัง

3. สรุปผลงานโดยย่อ พัฒนาระบบเพื่อป้องกัน การแพ้ยาซ้ำ  แพ้ยาข้ามกัน รวมทั้งการแพ้ยาชนิดรุนแรงในกลุ่มยาที่เฝ้าระวัง ในโรงพยาบาลพระพุทธบาท

4. ชื่อและที่อยู่องค์กร คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด โรงพยาบาลพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

5. สมาชิกทีม คณะกรรมการการติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยา
6. เป้าหมาย :    1. อุบัติการณ์การแพ้ยาซ้ำ แพ้ยาข้ามกัน  เนื่องจากระบบของโรงพยาบาล = 0  
                           2. อุบัติการณ์การแพ้ยาชนิดรุนแรงในกลุ่มยาที่เฝ้าระวัง = 0

7.ปัญหาและสาเหตุโดยย่อ : 
จากการทบทวนอุบัติการณ์การแพ้ยาซ้ำ แพ้ยาข้ามกัน ในปีงบประมาณ 2549 ที่ผ่านมา พบอุบัติการณ์การแพ้ยาซ้ำ 4 ราย โดยมีสาเหตุจากระบบของโรงพยาบาลจำนวน 3 ราย จากการทบทวนพบว่า เจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามแนวทางการรายงาน และความล่าช้าในการบันทึกข้อมูลแพ้ยาในคอมพิวเตอร์ จึงได้จัดระบบให้ผู้ป่วยทุกคนทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในได้รับการสัมภาษณ์ประวัติการแพ้ยาจากทั้งพยาบาล แพทย์ผู้สั่งยา และเภสัชกรขณะส่งมอบยา  โดยที่ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาทุกรายต้องได้รับการประเมินและบันทึกประวัติการแพ้ยาโดยเภสัชกร มีการจัดประชุมชี้แจงแนวทางดังกล่าวให้แก่แพทย์ เภสัชกร พยาบาลแผนกผู้ป่วยนอก และพยาบาลหัวหน้าหอผู้ป่วย  รวมทั้งกำหนดให้เภสัชกรผู้รับผิดชอบตรวจสอบความสมบูรณ์ในการบันทึกข้อมูลแพ้ยาในคอมพิวเตอร์ และประสานกับเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์เพื่อให้ข้อมูลยาที่ผู้ป่วยแพ้ แสดงบน ใบสั่งยา ใบจัดยา  , Doctor order sheet , Kardex และ ใบ MAR
            จากการทบทวนข้อมูลโดยเฉพาะอุบัติการณ์ของการแพ้ยาชนิดรุนแรง เช่น Stevens-Johnson Syndrome และ Toxic Epidermal Necrolysis ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลในช่วงปีงบประมาณ 2544 - 2546 จำนวน 19 คน พบยาที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดผื่นแพ้ยารุนแรง ได้แก่ Carbamazepine , Allopurinol , Phenytoin และ Co-trimoxazole  จึงได้จัดระบบเฝ้าระวังและประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานเพื่อลดความรุนแรงของการแพ้ยา โดยผู้ป่วยที่แพทย์เริ่มสั่งใช้ยาที่เฝ้าระวัง จะต้องพบเภสัชกรเพื่อให้คำแนะนำในการใช้ยา และเฝ้าระวังการแพ้ยาชนิดรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น และมีการทบทวนอุบัติการณ์แพ้ยารุนแรงทุกครั้ง
  

 8. การเปลี่ยนแปลง :
            - ทบทวนอุบัติการณ์การแพ้ยาซ้ำ แพ้ยาข้ามกัน และการแพ้ยารุนแรงในกลุ่มยาที่เฝ้าระวัง
โดย  ทีมสหสาขาวิชาชีพ
             พัฒนาบุคลากร
 จัดประชุมชี้แจงแนวทางการป้องกันการแพ้ยาซ้ำ แพ้ยาข้ามกัน และเฝ้าระวังการแพ้ยารุนแรง
ในกลุ่มยาที่เฝ้าระวัง ให้แก่แพทย์ เภสัชกร พยาบาลแผนกผู้ป่วยนอก และพยาบาลหัวหน้าหอผู้ป่วย
 จัดประชุมวิชาการ เรื่องการจัดการผู้ป่วยเพื่อป้องกันปัญหาการแพ้ยาข้ามกัน ให้แก่พยาบาล  
             ปรับปรุงระบบงาน
 ทบทวนระบบคัดกรอง ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาทุกรายต้องได้รับการประเมินและบันทึกประวัติ
การแพ้ยาโดยเภสัชกร
-  พัฒนาระบบเฝ้าระวังเพื่อลดความรุนแรงของการเกิดผื่นแพ้ยา

9. การวัดผลและผลการเปลี่ยนแปลง :
-  ในปีงบประมาณ 2550 พบอุบัติการณ์ ผู้ป่วยแพ้ยาซ้ำ  เนื่องจากระบบโรงพยาบาล จำนวน 2 ครั้ง
และในปีงบประมาณ 2551 ไม่พบอุบัติการณ์ ผู้ป่วยแพ้ยาซ้ำ แพ้ยาข้ามกัน เนื่องจากระบบโรงพยาบาล
-  จำนวนผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาได้รับการประเมินและบันทึกประวัติการแพ้ยาโดยเภสัชกร  ตั้งแต่
ปีงบประมาณ 2549 - 2551 จำนวน 1,472 ราย สามารถป้องกันปัญหาการแพ้ยาซ้ำ แพ้ยาข้ามกัน ในผู้ป่วยที่แพทย์สั่งใช้ยาที่ผู้ป่วยแพ้หรือให้ประวัติแพ้ยา จำนวน  28 ราย ( ป้องกันแพ้ยาซ้ำ  13  ราย และป้องกันการแพ้ยาข้ามกัน 15  ราย ) เฉลี่ยปีละ 10 ราย  หากเกิดการแพ้ยาที่รุนแรงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา  15,858 บาท/ราย คิดเป็นเงินประมาณ 1.6 แสนบาทต่อปี (จากข้อมูลคำนวณค่าใช้จ่ายปีงบประมาณ 2551 ในการรักษาอาการแพ้ยารุนแรง  15,858   บาท/ราย)

- ในปีงบประมาณ 2547  พบอุบัติการณ์ผู้ป่วยแพ้ยาในกลุ่มยาที่เฝ้าระวังรุนแรงจำนวน 1 รายเนื่องจากปัญหาการสื่อสาร จึงได้ปรับคำแนะนำและข้อมูลที่จะให้ผู้ป่วยโดยมีแพทย์ผิวหนังตรวจทาน
            - ในปีงบประมาณ 2548 - 2551ไม่พบอุบัติการณ์ ผู้ป่วยแพ้ยารุนแรงในกลุ่มยาที่เฝ้าระวัง  พบผู้ป่วยเกิดผื่นแพ้ยาที่ไม่รุนแรง จำนวน 24 ราย และพบผู้ป่วยที่เกิดอาการนำที่บ่งบอกว่าอาจมีอาการแพ้ยารุนแรง (Stevens-Johnson Syndrome และ Toxic Epidermal Necrolysis) จำนวน 5 ราย  หากผู้ป่วยเกิดการแพ้ยาที่รุนแรงจะทำให้ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการแพ้ยา ประมาณ 8 หมื่นบาท  (จากข้อมูลคำนวณค่าใช้จ่ายปีงบประมาณ 2551 ในการรักษาอาการแพ้ยารุนแรง  15,858   บาท/ราย)
10. บทเรียนที่ได้รับ :
          -  การทบทวนข้อมูลอุบัติการณ์การแพ้ยาในภาพรวมทั้งหมด และอุบัติการณ์การแพ้ยารุนแรงเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์สำหรับค้นหาโอกาสพัฒนาส่งผลให้ผู้ป่วยปลอดภัยในการใช้ยา
- ระบบเฝ้าระวังที่ดีตั้งแต่พบอาการนำที่บ่งบอกว่าอาจมีอาการแพ้ยาความรุนแรงของ   อุบัติการณ์ดังกล่าวก็จะลดลง ถึงแม้ว่าการแพ้ยาในผู้ป่วยเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ ได้ก็ตาม  
-  แผนที่จะดำเนินการต่อเนื่อง คือ การพัฒนาระบบเฝ้าระวังในเครือข่ายโรงพยาบาลพระพุทธบาทได้แก่ โรงพยาบาลชุมชน และสถานีอนามัย ในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลให้เข้ม
แข็งขึ้น

11. การติดต่อกับทีมงาน คณะกรรมการการติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยา
โรงพยาบาลพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เบอร์โทรศัพท์ 036-266111 ต่อ 5122 , 5124




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น