วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การพัฒนาระบบป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการแพ้ยาซ้ำ ในโรงพยาบาลพระพุทธบาท

1. ชื่อผลงาน : การพัฒนาระบบป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาซ้ำ                        
ในโรงพยาบาลพระพุทธบาท

2. คำสำคัญ : อาการไม่พึงประสงค์จากยา  แพ้ยา แพ้ยาซ้ำ

3.สรุปผลงานโดยย่อ : พัฒนาและปรับระบบโดยดำเนินการทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ เพื่อให้สามารถค้นพบการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยให้ครอบคลุม ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยในการใช้ยา ไม่เกิดแพ้ยาซ้ำ ในโรงพยาบาลพระพุทธบาท

4. ชื่อและที่อยู่องค์กร : คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด โรงพยาบาลพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

5. สมาชิกทีม : คณะกรรมการการติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา

6. เป้าหมาย :    อุบัติการณ์การแพ้ยาซ้ำ  = 0  

7.ปัญหาและสาเหตุโดยย่อ
เป้าหมายหลักของการใช้ยาในการบำบัดรักษาโรคและอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น คือการใช้ยาให้เกิดประสิทธิผลและมีความปลอดภัยสูงสุด ในขณะที่ยาให้ผลในการรักษานั้น อีกด้านหนึ่งก็อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งพบได้ตั้งแต่ผลกระทบเล็กน้อยจนรุนแรงถึงเสียชีวิต การดำเนินงานของโรงพยาบาลที่ผ่านมาในช่วงแรกมีลักษณะในเชิงตั้งรับ คือเมื่อบุคลากรสาธารณสุขพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา จะแจ้งมายังกลุ่มงานเภสัชกรรม เพื่อให้เภสัชกรทำการประเมิน เก็บรวบรวมประวัติและรวบรวมข้อมูลส่งคณะกรรมการอาหารและยา แต่จากการทบทวนอุบัติการณ์การเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาปีงบประมาณ 2549 ที่ผ่านมา พบอุบัติการณ์แพ้ยาซ้ำ 4 ราย ซึ่งมีสาเหตุจากระบบของโรงพยาบาลจำนวน 3 ราย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติที่กำหนด และความล่าช้าในการบันทึกข้อมูลแพ้ยาในคอมพิวเตอร์
ดังนั้นคณะกรรมการติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาโรงพยาบาลพระพุทธบาท  จึงได้ทำการพัฒนาและปรับระบบ โดยดำเนินการทั้งในเชิงรับได้แก่ 1) ระบบ spontaneous report และเชิงรุกได้แก่ 2) ระบบการคัดกรองประวัติแพ้ยา(screening) เพื่อให้สามารถค้นพบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นและครอบคลุม ป้องกันการเกิดแพ้ยาซ้ำ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยในการใช้ยามากขึ้น

 8.การเปลี่ยนแปลง :
-จัดระบบให้ผู้ป่วยทุกคนทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในได้รับการสัมภาษณ์ประวัติการแพ้ยาจากทั้งพยาบาล แพทย์ผู้สั่งยา และเภสัชกรขณะส่งมอบยา โดยที่ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาทุกรายต้องได้รับการประเมินและบันทึกประวัติการแพ้ยาโดยเภสัชกร เพื่อเข้าระบบป้องกันการแพ้ซ้ำ
-ประชุมชี้แจงแนวทางดังกล่าวให้แก่แพทย์ เภสัชกร พยาบาลแผนกผู้ป่วยนอก และพยาบาลหัวหน้าหอผู้ป่วย 
-ประสานกับเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์เพื่อให้ข้อมูลยาที่ผู้ป่วยแพ้ แสดงบน ใบสั่งยา , ใบจัดยา  , Doctor’s  order sheet , Kardex  และ ใบ MAR
- กำหนดให้เภสัชกรตรวจสอบความสมบูรณ์ในการบันทึกข้อมูลแพ้ยาในคอมพิวเตอร์
          - ทบทวนอุบัติการณ์การแพ้ยาซ้ำ โดยทีมสหสาขาวิชาชีพ 
         - พัฒนาช่องทางการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยแพ้ยาจากโรงพยาบาลชุมชนในครือข่ายมาที่โรงพยาบาลพระพุทธบาทเพื่อเข้าระบบป้องกันแพ้ยาซ้ำในเครือข่าย

9. การวัดผลและผลการเปลี่ยนแปลง :
ในปีงบประมาณ 2550 พบอุบัติการณ์ ผู้ป่วยแพ้ยาซ้ำ จำนวน 2 ครั้ง ในปีงบประมาณ 2551 และ
2552 ไม่พบอุบัติการณ์ ผู้ป่วยแพ้ยาซ้ำ
จำนวนผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาได้รับการประเมินและบันทึกประวัติการแพ้ยาโดยเภสัชกร  ตั้งแต่
ปีงบประมาณ 2549 - 2552 จำนวน 1,638 ราย ดังแสดงในกราฟ

-สามารถป้องกันปัญหาการแพ้ยาซ้ำ แพ้ยาข้ามกัน ในผู้ป่วยที่แพทย์สั่งใช้ยาที่ผู้ป่วยแพ้หรือให้ประวัติแพ้ยา จำนวน  52 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.17 ( ป้องกันแพ้ยาซ้ำ  23  ราย และป้องกันการแพ้ยาข้ามกัน 29  ราย ) เฉลี่ยปีละ 13.5 ราย  หากเกิดการแพ้ยาที่รุนแรงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา  คิดเป็นเงินประมาณ 8.2 แสนบาท (คำนวณจากค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาอาการแพ้ยารุนแรง  15,858   บาท/ราย ในปีงบประมาณ 2551)



จำนวนผู้ป่วย
 
- ในปีงบประมาณ 2552 มีผู้ป่วยแพ้ยาที่พบในโรงพยาบาลชุมชนเครือข่ายจำนวน 158 ราย ซึ่งถูกส่งต่อมาที่โรงพยาบาลพระพุทธบาท ดังแสดงในกราฟ  โดยที่ผู้ป่วยจำนวน  95 ราย  คิดเป็นร้อยละ 60.12 ได้ถูกนำมาเข้าระบบป้องกันแพ้ยาซ้ำในโรงพยาบาลพระพุทธบาท เนื่องจากมีประวัติรับการรักษาในโรงพยาบาล


10. บทเรียนที่ได้รับ :
          การทบทวนข้อมูลอุบัติการณ์การแพ้ยาในภาพรวมทั้งหมด และอุบัติการณ์การแพ้ยาซ้ำเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์สำหรับค้นหาโอกาสพัฒนาส่งผลให้ผู้ป่วยปลอดภัยในการใช้ยา
-  แผนที่จะดำเนินการต่อเนื่อง คือ การพัฒนาระบบเฝ้าระวังในเครือข่ายโรงพยาบาลพระพุทธบาท
ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชน และสถานีอนามัย ในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลให้เข้มแข็งขึ้น
11. การติดต่อกับทีมงาน : คณะกรรมการการติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยา
โรงพยาบาลพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เบอร์โทรศัพท์ 036-266111 ต่อ 5122 , 5124






การดูแลมารดาวัยรุ่น

1. ชื่อผลงาน  :  การดูแลมารดาวัยรุ่น


2. คำสำคัญ :  การเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลมารดาวัยรุ่น

3. สรุปผลงานโดยย่อ : พัฒนาการการดูแลมารดาวัยรุ่นแบบครบวงจรตั้งแต่ระยะฝากครรภ์จนถึงดูแลต่อเนื่องที่บ้าน

4. ชื่อและที่อยู่ขององค์กร : โรงพยาบาลพระพุทธบาท  จ. สระบุรี

5. สมาชิกทีม : สมาชิกทีม PCT สูติ-นรีเวชกรรม

6. เป้าหมาย : เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของมารดาและทารก

7. ปัญหา และสาเหตุโดยย่อ :
       จากการให้บริการพบว่ามีหญิงตั้งครรภ์มาคลอดอายุระหว่าง12 -19 ปี เพิ่มมากขึ้น จากปี 2549 ร้อยละ 11.72  ปี 2550  ร้อยละ 15.21 และมีจำนวนหญิงตั้งครรภ์มีอายุน้อยลง ในปี 2549 พบมารดาอายุ 12 ปี จำนวน 2 ราย  ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2548 พบ 1 ราย    จากโครงการการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน ปี 2549  พบปัญหาความไม่พร้อมด้านอารมณ์ของมารดา  ร้อยละ 19.4% และมีจำนวน 3 รายที่ต้องมีการเฝ้าระวังและให้การดูแลต่อเนื่องอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจเกิดแนวโน้มในการทอดทิ้งทารก ขณะคลอดมารดาไม่สามารถเผชิญความเจ็บปวดได้และไม่ให้ความร่วมมือในการคลอด เกิดหัตถการในการทำคลอดเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ระยะหลังคลอดพบว่าไม่สามารถดูแลตนเอง ต้องกลับมารักษาซ้ำจำนวน 2 ราย เนื่องจากไม่รู้วิธีการดูแลเต้านม  ส่วนทางด้านสังคมยังไม่สามารถแจ้งเกิดได้เอง ยังต้องพึ่งพาครอบครัวในเรื่องการเลี้ยงดูทารกและการศึกษาของตนเอง ซึ่งส่งผลต่อสัมพันธภาพระหว่างมารดาทารกลดลง

8. การเปลี่ยนแปลง :
8.1  มีการให้ความรู้และส่งเสริมการป้องกันเชิงรุกในเขตโรงเรียนระดับมัธยมและโรงเรียนขยายโอกาสในพื้นที่รับผิดชอบ  เช่น  โรงเรียนท้ายพิกุล  โรงเรียนสุธีวิทยา   เป็นต้น
8.2 จัดโปรแกรมการดูแลและให้ความรู้แก่มารดาและครอบครัวในระยะฝากครรภ์   ระยะหลังคลอดและมีระบบส่งต่อเพื่อการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน ในรายที่มีความซับซ้อนจะมีการติดตามเยี่ยมมารดาวัยรุ่น โดยพยาบาลวิชาชีพชำนาญการที่มีความรู้ด้านสุขภาพจิต
8.3 มีระบบพี่เลี้ยง (Coaching) ในการช่วยคลอด
8.4 มีการดูแลร่วมกันโดยทีมแพทย์  พยาบาล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการที่มีความรู้ด้านสุขภาพจิตและนักสังคมสงเคราะห์

 

9.     การวัดผลและผลของการเปลี่ยนแปลง :

จากการพัฒนาการการดูแลมารดาวัยรุ่นแบบครบวงจรตั้งแต่ระยะฝากครรภ์จนถึงดูแลต่อเนื่องที่บ้าน  พบว่า จำนวนมารดาวัยรุ่นยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อัตราการฝากครรภ์สูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ97.29 ภาวะซีดพบลดลง การเกิดภาวะbirth asphyxia ลดลง  หัตถการช่วยคลอดลดลงปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 5.40  ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าแนวทางที่ปฏิบัติน่าจะมีแนวโน้มที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีข้อที่ต้องพัฒนาต่อ คือเรื่องการคลอดก่อนกำหนด


10. บทเรียนที่ได้รับ
-     การฝากครรภ์มีผลดี  สามารถช่วยให้ผู้ป่วยรู้และเข้าใจการปฏิบัติตัวขณะตั้งครรภ์ดีขึ้น  สังเกตจากพบภาวะซีดลดลง
            -      ภาวะซีดในมารดาอาจส่งผลกระทบให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยได้
            -     มารดาและทารกปลอดภัย  ผู้ป่วยและญาติเกิดความพึงพอใจและให้ความร่วมมือในการรักษา   
            -    ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น และสามารถกลับไปอยู่ในครอบครัวและสังคมได้
-    การทำงานเป็นทีม ทำให้งานมีประสิทธิภาพและผลลัพธ์การดูแลครอบคลุมมากขึ้น

11. การติดต่อกับทีมงาน : PCT สูติ-นรีเวชกรรม  โรงพยาบาลพระพุทธบาท อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี 18120   โทรศัพท์  036 -266111โดยการประชุมร่วมกัน การติดต่อประสานงาน การลงพื้นที่ร่วมในการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน



C3THER เพื่อเธอ

1.  ชื่อผลงาน : C3THER เพื่อเธอ

2.  คำสำคัญ : C3THER  ทีมสหสาขาวิชาชีพ  การเสริมพลัง

3.  สรุปผลงานโดยย่อ ทบทวนคุณภาพการดูแลที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง

4.  ชื่อและที่อยู่ขององค์กร :  PCT กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพระพุทธบาท จ.สระบุรี
5.  สมาชิกทีม :1.   กุมารแพทย์
2.      นักกายภาพบำบัด
3.      นักโภชนาการ
4.      พยาบาลจากศูนย์สุขภาพชุมชน
5.      พยาบาลหอผู้ป่วยเด็ก1 และเด็ก2

6.  เป้าหมาย ผู้ป่วย Cerebral palsy

7.  ปัญหาและสาเหตุโดยย่อ :
               น้องเฟิร์นเป็น Cerebral palsy มาตั้งแต่เกิด  พ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่เธออายุได้ 3 ปี ทิ้งเธอให้อยู่กับยายซึ่งมีอาชีพนวดแผนโบราณตามบ้านและน้าสะใภ้ แม้ว่าเธอจะพิการทางสมองเป็นภาระอย่างมากสำหรับผู้ดูแล  แต่ก็เป็นที่รักของทุกคน ตลอดระยะเวลา 9 ปีเธอต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอยู่เสมอด้วยปัญหา Pneumonia
   เดือนมกราคม 2551 น้องเฟิร์น Admit ด้วย Pneumonia , Upper GI bleed ที่ PICU  หลังจากที่หย่าเครื่องช่วยหายใจได้ย้ายมาที่ตึกเด็ก1  เธอยังมีอาการเกร็งบ่อยครั้ง มีไข้แม้จะให้ antibiotic อย่างเต็มที่ PCT กุมารเวชกรรม จึงได้ประชุมทำ C3THER ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยกุมารแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ พยาบาลจากศูนย์สุขภาพชุมชน 
   จากการทบทวนการดูแลรักษาพบว่า เธอมีภาวะขาดสารอาหาร  มีเสมหะมากเสี่ยงต่อการสูดสำลัก อาการมีแต่ทรงกับทรุด  ญาติมีความหวังว่าผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ได้อีกนาน โดยขออยู่โรงพยาบาลไปเรื่อยๆ รอให้ผู้ป่วยมีสภาพเหมือนก่อนมานอนโรงพยาบาลครั้งนี้ คือ ป้อนอาหารทางปากได้ ไม่มีไข้ ไม่หอบ ไม่ชักเกร็ง ซึ่งจากพยาธิสภาพของโรค ทีมผู้ดูแลทราบดีว่าเป็นไปไม่ได้ ทุกคนจึงมุ่งมั่นให้น้องเฟิร์นได้รับการดูแลและวางแผนจำหน่ายอย่างดีที่สุด มีอะไรที่ควรดำเนินการให้เธอแล้วยังไม่ได้ให้  เพื่อให้สามารถกลับไปอยู่กับครอบครัวได้อย่างปลอดภัย ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจนต้องกลับมา Admit อีก 

 8.  การเปลี่ยนแปลง :
              นำไปสู่การเปลี่ยนยาระงับอาการชัก การปรับสูตรอาหาร การเสริมพลังญาติให้เชื่อว่าตนมีความสามารถในการดูแลเด็กที่บ้าน โดยการสอนการให้อาหารทางสายยาง จัดหาเครื่อง suction และเครื่องพ่นยา สำหรับให้ยืมไปใช้ที่บ้าน นำเครื่องมาให้ญาติฝึกใช้ให้ชำนาญขณะอยู่ที่หอผู้ป่วย ใช้เวลา 2 สัปดาห์น้องเฟิร์นก็สามารถกลับบ้านได้ 1 สัปดาห์ต่อมากุมารแพทย์ พยาบาลและพยาบาลศูนย์สุขภาพชุมชนไปเยี่ยมเธอที่บ้าน  เป็นที่น่าแปลกใจว่าน้องเฟิร์นหน้าตาแจ่มใส ไม่เคยมีไข้ มีเกร็งบ้างเล็กน้อย  เสมหะลดอย่างมาก แทบไม่ได้ใช้เครื่องดูดเสมหะ Feed อาหารรับได้หมด   Lung clear  หลังจากนั้นพยาบาลศูนย์สุขภาพชุมชนไปเยี่ยมเธอที่บ้านทุก 1 เดือน 

9.  การวัดผลและผลของการเปลี่ยนแปลง :
            น้องเฟิร์นไม่ได้กลับมา Admit อีกเลย  ทีมได้ติดตามอาการจากญาติเมื่อมารับยาให้น้องเฟิร์น ทราบว่าเธอสบายดี ท่ามกลางความรักของทุกคนในบ้าน

10. บทเรียนที่ได้รับ แนวคิดเรื่องการทบทวนคุณภาพการดูแลที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ทุกวัน โดยการตั้งคำถาม C3THER

11. การติดต่อกับทีมงาน PCT กุมารเวชกรรม  โรงพยาบาลพระพุทธบาท อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี 18120   โทรศัพท์  036 -266111

การพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยเพื่อป้องกันการเกิดปอดอักเสบที่สัมพันธ์กับการใช้เครื่องช่วยหายใ

ฝากข้อความไว้เมื่อ : 28 เมษายน 2552 เวลา 9:51:27 | หมายเลขIP : 127.0.0.1 ตอบกลับพร้อมข้อความเดิม

1.  ชื่อผลงาน   การพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยเพื่อป้องกันการเกิดปอดอักเสบที่สัมพันธ์กับการใช้เครื่องช่วยหายใจ

2.  คำสำคัญ :  การพัฒนาคุณภาพ, การเกิดปอดอักเสบที่สัมพันธ์กับการใช้เครื่องช่วยหายใจ

3.  สรุปผลงานโดยย่อ : พัฒนาการป้องกันการเกิดปอดอักเสบที่สัมพันธ์กับการใช้เครื่องช่วยหายใจ

4.  ชื่อและที่อยู่ขององค์กร : โรงพยาบาลพระพุทธบาท  จ. สระบุรี

5.  สมาชิกทีม : คณะกรรมการป้องกันโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลพระพุทธบาท

6.  เป้าหมาย : ลดอุบัติการณ์การเกิดปอดอักเสบที่สัมพันธ์กับการใช้เครื่องช่วยหายใจให้น้อยกว่า 15 ครั้งต่อ 1,000 วันที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ

7.  ปัญหา และสาเหตุโดยย่อ :
            จากข้อมูลการเฝ้าระวังการติดเชื้อในโรงพยาบาลพระพุทธบาท พบอุบัติการณ์ VAP 20.53 ครั้งต่อ1,000 วันที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ สูงกว่าเกณฑ์ที่โรงพยาบาลกำหนด (15 ครั้งต่อ 1,000 วันที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ) ซึ่งส่งผลกระทบในหลายด้าน  จึงถือว่าเป็นปัญหาที่ควรได้รับการพัฒนาคุณภาพเพื่อป้องกัน การเกิดปอดอักเสบที่สัมพันธ์กับการใช้เครื่องช่วยหายใจ

8.  การเปลี่ยนแปลง :
          -  ทบทวนการวินิจฉัยการติดเชื้อในโรงพยาบาลให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
 ทบทวนปัญหาเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยในด้านบุคลากร  และด้านอุปกรณ์
-  ทบทวนแนวปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง
-  พัฒนาบุคลากร   จัดประชุมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในเรื่อง
                        การป้องกัน VAP  และเทคนิคการดูดเสมหะ
การดูแลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ
การดูแลการทำงานของเครื่องช่วยหายใจ
            -  ปรับปรุงการปฏิบัติ      
                  การทำความสะอาดช่องปาก โดยใช้น้ำต้มสุก หรือ sterile water แทนน้ำประปา
     :  การทำความสะอาด และการเปลี่ยนชุด Ambu bag ประจำวัน และเมื่อสิ้นสุด case
     :  การจัดรถสำหรับใส่อุปกรณ์ดูดเสมหะ และการทำความสะอาดอุปกรณ์ดูดเสมหะ
     :  สนับสนุนอุปกรณ์การทำความสะอาดมือ
     :  ศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดปอดอักเสบที่สัมพันธ์กับการใช้เครื่องช่วยหายใจ 
-  การกระตุ้นเป็นระยะๆ  เมื่อพบว่าอุบัติการณ์การเกิดปอดอักเสบที่สัมพันธ์กับการใช้เครื่องช่วยหายใจสูงขึ้น

9.  การวัดผลและผลของการเปลี่ยนแปลง


ผลการพัฒนา  นำแผนภูมิควบคุมทางสถิติ (Statistical Control Chart) มาใช้ติดตามผลเมื่อมีการปรับปรุงระบบงานไปแล้ว แสดงระดับข้อมูลตัวชี้วัดคุณภาพตามลำดับที่เกิดเหตุการณ์ ประกอบด้วย  ได้แก่  ค่าเฉลี่ย ( Mean )   และระดับควบคุม  (Control Limit )   ซึ่งจะใช้ดูความไม่แน่นอน และประเมินความคงตัวของระบบหรือกระบวนการ ใช้ดูแนวโน้มของการพัฒนาว่าเป็นอย่างไร 


10.  บทเรียนที่ได้รับ
          การป้องกันการเกิดปอดอักเสบที่สัมพันธ์กับการใช้เครื่องช่วยหายใจ ควรป้องกันตั้งแต่
การไม่ให้ผู้ป่วยต้องใส่ท่อ และใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยการทำงานในระบบเชิงรุก และทำงาน
เป็นแบบสหสาขาวิชาชีพ โดย
1. การกำหนดแนวทางการดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ  ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ COPD, Asthma โรคความดันโลหิตสูง โรค CVA โรคเบาหวาน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง  ตลอดจนการส่งเยี่ยมบ้านในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน และควบคุมอาการไม่ได้
            2. การนำหลักฐานเชิงประจักษ์ และผลงานวิจัยมาใช้ในการประเมินผู้ป่วยเพื่อการหย่าเครื่องช่วยหายใจ (weaning protocal)
-  จัดอบรมบุคลากร กลุ่มเป้าหมาย คือ พยาบาลผู้ดูแลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจรวมถึงผู้ที่สนใจ
-  ประเมินผู้ป่วยเพื่อการหย่าเครื่องช่วยหายใจ ในผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจทุกราย โดยใช้แบบประเมินที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
-  ติดตามและประเมินผลการใช้แบบประเมิน และผู้ป่วย โดยคุณสำราญ  จันทร์พงษ์

11. การติดต่อกับทีมงาน งานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลพระพุทธบาท อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี 18120   โทรศัพท์  036 -266111